top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

ทูตไทยผลักดันการต่ออายุ WTO E-commerce และ TRIPS Moratorium สำเร็จ

ที่ประชุมคณะมนตรีใหญ่ WTO มีฉันทามติต่ออายุ E-commerce และ TRIPS Moratorium เป็นการชั่วคราว 6 เดือนไปจนถึงการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 (MC12) ที่คาซัคสถานจะเป็นเจ้าภาพในเดือนมิถุนายน 2563

ภาพประกอบ: www.wto.org


เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2562 ที่ประชุมคณะมนตรีใหญ่ WTO ซึ่งมีนางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ในฐานะประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO นั่งเป็นประธานฯ ได้ขอให้ที่ประชุมฯ พิจารณารับรองร่างข้อมติเรื่องการต่ออายุ E-commerce และ TRIPS Moratorium เป็นการชั่วคราวอีก 6 เดือนจนถึงการประชุม MC12 พร้อมทั้งสานต่อการหารือเชิงลึกในประเด็นด้านเทคนิคและข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับ Moratorium แต่ละฉบับในช่วงต้นปี 2563 เพื่อหวังแก้ไขข้อห่วงกังวลของสมาชิกฯ โดยเฉพาะนัยยะของ Moratorium ต่อประเทศกำลังพัฒนา และ เป็นข้อมูลสำหรับระดับรัฐมนตรีในการพิจารณาต่ออายุฯ ครั้งต่อไปในการประชุม MC12 ทั้งนี้ Moratorium ทั้งสองฉบับมีกำหนดที่จะหมดอายุลงในเดือนธันวาคม 2562 ตามมติของที่ประชุม MC11 เมื่อปี 2560 ณ กรุง บูเอโนสไอเรส อาร์เจนตินา โดยในที่ประชุมฯ สมาชิก WTO ทั้ง 164 ประเทศได้แสดงความยืดหยุ่นในการให้ฉันทามติต่อร่างข้อมติทั้งสองฉบับ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จครั้งสำคัญที่จะกู้ความน่าเชื่อถือของ WTO ไว้ได้ โดยเฉพาะในยามที่ WTO กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติกับประเด็นอื่นๆ ณ ขณะนี้ รวมทั้งเป็นการส่งสัญญาณ เชิงบวกในแง่ความแน่นอนและการคาดการณ์ได้ให้แก่ระบบการค้าโลก ภาคธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ

ทั้งนี้ กว่าสมาชิก WTO ทั้ง 164 ประเทศจะบรรลุฉันทามติต่อร่างข้อมติการต่ออายุ E-commerce และ TRIPS Moratorium เป็นการชั่วคราวนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยประธานฯ ต้องจัดการหารือทวิภาคีและกลุ่มย่อยกับสมาชิกสำคัญๆ ที่ยังคงมีความเห็นแตกต่างนับครั้งไม่ถ้วน เพื่อหาจุดร่วมที่สามารถยอมรับได้ ประกอบกับสมาชิกรายสำคัญได้นำประเด็นเรื่องการต่ออายุ E-commerce Moratorium และ TRIPS Moratorium มาเชื่อมโยงและสร้างอำนาจต่อรองระหว่างกัน ถึงแม้ว่าการพิจารณาต่ออายุ Moratorium ทั้งสองฉบับมักเป็นประเด็นท้าทายสำหรับที่ประชุม WTO มาตลอด 20 ปี แต่เหตุที่ทำให้เรื่องการพิจารณาต่ออายุดังกล่าวเป็นประเด็นร้อนของเวที WTO ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เนื่องมาจากเดิมที WTO มีกำหนดจะจัดการประชุม MC12 ในเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งรัฐมนตรีการค้าของประเทศสมาชิกจะสามารถพิจารณาต่ออายุได้ทันก่อนที่ Moratorium ทั้งสองฉบับจะหมดอายุ แต่ที่ประชุมคณะมนตรีใหญ่ WTO เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 ได้เห็นชอบให้เลื่อนการประชุม MC12 ไปในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2563 จึงทำให้ Moratorium ดังกล่าวมีความเสี่ยงที่จะขาดอายุเป็นระยะเวลา 6 เดือนก่อนที่ระดับรัฐมนตรีจะตัดสินใจต่ออายุครั้งต่อไปในการประชุม MC12


การยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (Customs duties on electronic transmissions) หรือที่เรียกว่า E-Commerce Moratorium นั้น สมาชิก WTO ได้ตกลงกันครั้งแรกในการประชุม MC2 เมื่อปี 2541 ซึ่งที่ประชุมในขณะนั้นได้รับรองปฏิญญาด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยมอบหมายให้คณะมนตรีใหญ่ WTO จัดทำแผนการดำเนินงานด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Work Program on Electronic Commerce) เพื่อให้คณะมนตรีย่อยของ WTO หารือในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า E-Commerce รวมทั้ง ได้มีข้อตัดสินใจให้ยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการชั่วคราว 2 ปี ซึ่งต่อมา ที่ประชุมรัฐมนตรี WTO ได้มีมติต่ออายุ E-Commerce Moratorium เป็นการชั่วคราวทุกๆ 2 ปีมาโดยตลอดจนถึงล่าสุดในการประชุม MC11 เนื่องจากเห็นว่า การยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรในสินค้าหรือบริการ E-commerce จะส่งเสริมให้ธุรกิจด้าน E-Commerce ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันและความแน่นอนให้แก่ผู้ประกอบการ MSMEs ในการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบห่วงโซ่อุปทานโลก อย่างไรก็ดี สมาชิกบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา และ LDCs ยังคงมีข้อห่วงกังวลในประเด็นต่างๆ อาทิ ความไม่ชัดเจนของนิยามและขอบเขตของคำว่า electronic transmissions ผลกระทบจากการสูญเสียรายได้ในการจัดเก็บภาษีศุลกากรของประเทศ และความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีในการจัดเก็บภาษีฯ รวมทั้งต้องการรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ทางการค้าดิจิทัลในอนาคต ทั้งนี้ สมาชิก WTO ส่วนใหญ่ มีความเข้าใจที่ตรงกันว่า Moratorium ดังกล่าวไม่ได้ห้ามสมาชิก WTO ในการจัดเก็บภาษีภายในประเทศ (Internal tax) ในสินค้าดิจิทัล


ในส่วนของ TRIPS Moratorium ซึ่งหมายถึง การยกเว้นการฟ้องร้องภายใต้กลไกระงับข้อพิพาทของ WTO กรณีได้รับความเสียหายหรือเสียประโยชน์อันพึงได้รับจากพันธกรณีแม้มิได้มีการละเมิดความตกลง (Non-violation and Situation Complaints: NVC) ในบริบทของความตกลงทริปส์ โดยเรื่องนี้ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่สมาชิก WTO ถกเถียงกันมาอย่างยาวนานว่า หากมีการนำหลักการ NVC มาบังคับใช้กับความตกลงทริปส์จะกระทบต่อสิทธิของสมาชิกฯ ในการใช้มาตรการข้อผ่อนปรนภายใต้ความตกลงทริปส์หรือไม่ โดยเฉพาะสิทธิของประเทศกำลังพัฒนาและ LDCs เพื่อประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข ยกตัวอย่างเช่น ภายใต้พิธีสารแก้ไขความ ตกลงทริปส์ด้านสาธารณสุข กำหนดให้ประเทศสมาชิก WTO ที่มีศักยภาพในการผลิตยาสามารถใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิบัตร (CL) เพื่อส่งออกไปยังประเทศผู้นำเข้าที่มีความจำเป็นและขาดศักยภาพในการผลิตยาได้ ซึ่งกรณีดังกล่าวถือว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ขัดพันธกรณีของความตกลงทริปส์ แต่กระทบต่อผลประโยชน์ของบริษัทยาต่างชาติที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตร ซึ่งยังไม่มีความแน่นอนและชัดเจนว่า กรณีตัวอย่างในลักษณะนี้จะสามารถนำมาฟ้องร้องได้หรือไม่ หากไม่มี TRIPS Moratorium ทั้งนี้ TRIPS Moratorium บังคับใช้ครั้งแรกเมื่อปี 2538 และมีการยกเว้นเป็นเวลา 5 ปี (ปี 2538 – 2542) หลังจากนั้น ที่ประชุมรัฐมนตรี WTO ได้มีมติให้ต่ออายุ Moratorium ดังกล่าวเรื่อยมาทุกๆ 2 ปีจนถึงการประชุม MC11 โดยกำหนดให้ที่ประชุมคณะมนตรีทริปส์ดำเนินการพิจารณารายละเอียดของขอบเขตและรูปแบบ (Scope and Modalities) ของ NVC ในกรณีที่นำหลักการดังกล่าวมาบังคับใช้กับความตกลงทริปส์ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อที่ประชุม MC ครั้งถัดไป


อย่างไรก็ดี การต่ออายุ Moratorium ทั้งสองฉบับข้างต้นเป็นการชั่วคราวไปอีก 6 เดือนนั้น ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่สมาชิก WTO จะเริ่มการหารืออย่างจริงจังในช่วงต้นปี 2563 เพื่อมุ่งแก้ไขข้อห่วงกังวลของสมาชิกบางประเทศ รวมทั้งหารือเพื่อให้มีความชัดเจนและเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบและประโยชน์ของ Moratorium แต่ละฉบับ สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการต่ออายุฯ ครั้งต่อไปของรัฐมนตรีการค้าในการประชุม MC12 ระหว่างวันที่ 8 – 11 มิถุนายน 2563 ณ กรุงนูร์-ซุลตัน คาซัคสถาน


ไวนิกา อานามนารถ

11 ธันวาคม 2562

371 views0 comments

Comments

Couldn’t Load Comments
It looks like there was a technical problem. Try reconnecting or refreshing the page.
bottom of page