top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

ความสำเร็จและความท้าทายของไทย จากการทบทวนนโยบายการค้าครั้งที่ 8


WTO จัดการประชุมทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review: TPR) ครั้งที่ 8 ของไทย เมื่อวันที่ 24 และ 26 พฤศจิกายน 2563 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดย นายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย


TPR เป็นกลไกตรวจสอบนโยบายและมาตรการทางการค้าของสมาชิก WTO เพื่อสร้างความโปร่งใส และส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การค้าพหุภาคี โดยสมาชิกที่มีสัดส่วนการค้าในตลาดโลก สูงสุด 4 อันดับแรก จะทบทวนทุก 3 ปี สมาชิก 16 อันดับถัดมา รวมทั้งไทย ทบทวนทุก 5 ปี และสมาชิกที่เหลือ ทบทวนทุก 7 ปี


ในการประชุมครั้งนี้ ต่างชาติชื่นชมภาวะเศรษฐกิจไทยระหว่างปี 2558 ถึง 2562 ซึ่งมีอัตราการขยายตัวของ GDP เฉลี่ยร้อยละ 3.4 ต่อปี และยกย่องนโยบายประเทศไทย 4.0 โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงการปรับปรุง พ.ร.บ. การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน ซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ร.บ. มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ร.บ. การจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ และ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า ขณะเดียวกัน สมาชิก WTO บางประเทศชี้ว่า พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวยังค่อนข้างเข้มงวด


สมาชิกหลายประเทศชื่นชมการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (IUU) การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การปรับปรุงการบริหารจัดการระบบโควตาภาษี และการผ่อนคลายหลักเกณฑ์ การถือหุ้นของต่างชาติในภาคบริการ อย่างไรก็ดี สมาชิกจำนวนมากเสนอแนะให้ไทยปฏิรูปโครงสร้างภาษี ผ่อนปรนความเข้มงวดของมาตรการใบอนุญาตนำเข้า เพิ่มการเปิดเสรีการค้าสินค้าเกษตร ปรับปรุงการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ และขยายการส่งเสริมการลงทุน นอกจากนี้ สมาชิกบางประเทศแสดงข้อกังวลต่อมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช รวมทั้งการห้ามส่งออกหน้ากากอนามัยในช่วง การแพร่ระบาดของโควิด-19


บทบาทของไทยในเวที WTO เป็นที่ยอมรับของสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทผู้นำของ น.ส. สุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ในฐานะประธานองค์กรระงับข้อพิพาทปี 2561 และประธานคณะมนตรีใหญ่

ปี 2562 รวมทั้งการเป็นสมาชิกการขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้สัตยาบันความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า การยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลงทริปส์ ตลอดจนการเข้าร่วมเจรจาอย่างสร้างสรรค์เรื่องการอุดหนุนประมง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำวินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศ และการเจรจาเพื่อปฏิรูป WTO อย่างไรก็ดี สมาชิกหลายประเทศผลักดันให้ไทยแจ้งข้อมูลการอุดหนุนภายในสินค้าเกษตรต่อ WTO และปรับปรุงข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการของไทยภายใต้ WTO


การประชุม TPR ครั้งที่ 8 ของไทย นับว่าประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจของสมาชิก WTO ต่อนโยบายเศรษฐกิจการค้าและการปฏิรูปกฎหมาย ซึ่งจะช่วยยกระดับความเชื่อมั่นต่อไทย ในฐานะประเทศคู่ค้าและแหล่งลงทุน ขณะเดียวกัน มุมมองของสมาชิก WTO ต่อนโยบายการค้าของไทย ได้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายหลายประการ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้ทบทวนและปรับปรุงมาตรการ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนต่อไป


ดร. ดวงกมล คาร์พินสกี

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

27 พฤศจิกายน 2563

225 views
bottom of page