ทูตไทยร่วมถกประเด็น E-commerce Moratorium ในงานสัมมนาของ WTO
ไวนิกา อานามนารถ
เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา WTO ได้จัดงานสัมมนาผ่านแพลตฟอร์ม zoom เพื่อหารือในประเด็นเรื่องการยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (Customs duties on electronic transmissions) หรือที่เรียกว่า E-Commerce Moratorium ซึ่งได้มีภาคส่วนที่เกี่ยวข้องสนใจเข้าร่วมการหารือมากกว่า 300 คน โดยงานสัมมนาได้แบ่งการหารือออกเป็น 2 ช่วง คือ แนวทางการศึกษาวิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบของ E-commerce Moratorium และนัยยะของ Moratorium ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจ ในการนี้ ฝ่ายเลขานุการ WTO ได้เชิญนางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เข้าร่วมเป็นผู้ดำเนินรายการ (moderator) ในการหารือช่วงที่สอง ซึ่งเป็นการสานต่อจากเมื่อปีที่ผ่านมาในขณะที่ ออท. ไทย ดำรงตำแหน่งประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO และได้ขับเคลื่อนประเด็นนี้จนสามารถหาฉันทามติระหว่างประเทศสมาชิก WTO ได้สำเร็จ ส่งผลให้มีการต่ออายุ E-commerce Moratorium ไปจนถึงการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 (MC12)
ทั้งนี้ ในช่วงแรกของการหารือเป็นการนำเสนอวิธีการและผลการศึกษาวิเคราะห์เรื่อง E-commerce Moratorium ขององค์กรระหว่างประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ ที่ประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD), European Centre for International Political Economy (ECIPE), องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และ WTO โดยในส่วนผลการศึกษาของ UNCTAD จะมุ่งเน้นประเด็นเรื่องการวัดปริมาณการสูญเสียรายได้ของรัฐบาลจากการไม่สามารถจัดเก็บภาษีศุลกากรในสินค้าดิจิทัลได้ เนื่องมาจาก E-commerce Moratorium และได้เสนอแนะให้สมาชิก WTO พิจารณาไม่ต่ออายุ Moratorium ดังกล่าว เพื่อให้แต่ละประเทศมีทางเลือกด้านนโยบายว่าจะจัดเก็บภาษีศุลกากรฯ หรือไม่ ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับผลการศึกษาของอีก 3 องค์กร ที่ประเมินว่า E-commerce Moratorium ก่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมทางเศรษฐกิจแก่ประเทศสมาชิก มีความคาดการณ์ได้ต่อภาคธุรกิจ และมีมูลค่าในเชิงบวกมากกว่ารายได้ที่รัฐบาลสูญเสียไป โดยได้มีการนำปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาทำการวิเคราะห์ ไม่ได้จำกัดเพียงแค่ประเด็นการสูญเสียรายได้ของรัฐบาลเท่านั้น นอกจากนี้ ในรายงานของ OECD ยังได้เสนอแนะว่า แนวทางที่มีประสิทธิภาพในการชดเชยรายได้ที่สูญเสียจากการจัดเก็บภาษีศุลกากรในสินค้าดิจิทัล คือ การจัดเก็บภาษีดิจิทัลภายในประเทศแก่ผู้ประกอบการในประเทศและต่างชาติอย่างเท่าเทียมกัน
สำหรับการหารือในช่วงที่สอง สมาชิกฯ ได้เน้นหารือเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของ E-commerce Moratorium กับการรักษาขีดความสามารถทางการค้าในเวทีโลก รวมทั้งประโยชน์ของ Moratorium ต่อมิติด้านการพัฒนา ซึ่ง ผู้อภิปรายส่วนใหญ่เห็นว่า E-commerce Moratorium มีบทบาทเชิงบวกแก่ภาคธุรกิจ และเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในทิศทางดิจิทัลมากขึ้น ทำให้สามารถลดต้นทุนและส่งเสริม SMEs ให้เข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานโลกได้ รวมทั้งจะเป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างความคาดการณ์ได้ทางการค้าดิจิทัลให้แก่ประเทศต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในยุคการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดโควิด
ทั้งนี้ ประเด็นเรื่อง E-Commerce Moratorium นั้นถือเป็นประเด็นข้อถกเถียงของสมาชิก WTO มาตลอด 20 ปี ภายหลังจากที่สมาชิก WTO ได้ตกลงกันครั้งแรกเมื่อปี 2541 ให้ยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการชั่วคราวทุก 2 ปี ซึ่งได้มีการต่ออายุเรื่อยมาจนถึงการประชุม MC12 ที่คาดว่าจะจัดขึ้นกลางปี 2564 ณ คาซัคสถาน โดยการจัดสัมมนาครั้งนี้ของ WTO ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่สมาชิกฯ จะเริ่มการหารืออย่างจริงจังในปี 2563 เพื่อมุ่งแก้ไขข้อห่วงกังวลของสมาชิกบางประเทศ รวมทั้งหารือเพื่อให้มีความชัดเจนและเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบและประโยชน์ของ E-commerce Moratorium สำหรับเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาการต่ออายุฯ ครั้งต่อไปของรัฐมนตรีการค้าในการประชุม MC12