มิติใหม่ของการทบทวนนโยบายการค้าผ่าน Video Conference
ดร. ดวงกมล คาร์พินสกี
การทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review: TPR) เป็นกลไกสร้างความโปร่งใสและความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสมาชิก WTO โดยสมาชิกที่มีสัดส่วนการค้าในตลาดโลกสูงสุด 4 อันดับแรก (สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น) ทบทวนทุก 3 ปี สมาชิก 16 อันดับถัดมา (รวมทั้งไทย) ทบทวนทุก 5 ปี และสมาชิกที่เหลือ ทบทวนทุก 7 ปี สำหรับไทยผ่านการประชุม TPR มาแล้ว 7 ครั้ง การประชุมครั้งต่อไปจะจัดในปี 2563
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ WTO ต้องระงับการประชุม TPR ของญี่ปุ่น ซิมบับเว และทาจิกิสถาน ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดระหว่างกลางเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2563 และอาจต้องเลื่อนการประชุม TPR ของประเทศอื่น ๆ ในปี 2563
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2563 สมาชิก WTO จึงได้หารือถึงแนวทางการจัดประชุม TPR ที่ได้รับผลสืบเนื่องจากโควิด-19 โดยสมาชิกหลายรายสนับสนุนการจัดประชุม TPR ที่เหลือในปี 2563 แบบ Virtual Meeting ในเวลาที่เหมาะสม และคำนึงถึงความพร้อมของแต่ละประเทศ ซึ่งคาดว่า ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศแรกในประวัติศาสตร์ของ WTO ที่จะจัดการประชุม TPR ผ่าน Video Conference สำหรับสมาชิกอาเซียนที่เดิมมีกำหนดจัดการประชุม TPR ในปี 2563 มี 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และเมียนมา โดยคาดว่า การประชุม TPR ของไทยและอินโดนีเซียจะจัดระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2563 ส่วนการประชุม TPR ของเวียดนามและเมียนมาอาจเลื่อนไปจัดในปี 2564
TPR ผลักดันการปฏิรูปภายในประเทศ และเป็นเวทีประชาสัมพันธ์ความสำเร็จของการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและกระตุ้นการส่งออก ในขณะเดียวกัน การเปิดโอกาสให้สมาชิกรายอื่นสามารถตรวจสอบนโยบายการค้าของประเทศ เป็นการสร้างกระแสกดดันให้หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า
แม้วิกฤตโควิดยังไม่คลี่คลาย แต่การประชุม TPR ของ WTO ต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อสร้างความโปร่งใสแก่การค้าโลก