top of page

โควิดพ่นพิษ SMEs : ข้อแนะนำ MSMEs ฝ่าวิกฤต

สรุปโดย กาจฐิติ วิวัธวานนท์

International Trade Center (ITC) ในฐานะหน่วยงานด้านการพัฒนาของ WTO และ UN. ในการให้ความช่วยเหลือกลุ่มวิสาหกิจขนาดย่อย ขนาดเล็กและขนาดกลาง (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) ได้เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับ 1) ผลสำรวจผลกระทบทางธุรกิจของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 และ 2) ข้อแนะนำช่วยเหลือ MSMEs ในการผ่าวิกฤต สรุปได้ว่า

ผู้ประกอบการ MSMEs ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่ โดยผู้ประกอบการ MSMEs ประมาณ 4 ใน 5 มียอดขายลดลงทั้งยอดขายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการ MSMEs ประมาณ 1 ใน 3 มีความเสี่ยงที่จะเลิกกิจการอย่างถาวรภายใน 3 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ ลูกค้าไม่ชำระค่าสินค้า นอกจากนี้ MSMEs ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการให้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล และมีความต้องการเร่งด่วนที่อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ ได้แก่ การยกเว้นภาษี การให้ความช่วยเหลือทางการเงินและการพยุงการจ้างงาน

ITC ได้มีข้อแนะนำแก่ภาคส่วนต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลือ MSMEs โดยแยกเป็น

ข้อแนะนำสำหรับภาคธุรกิจ :
ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในการแข่งขันใหม่โดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยและคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัย, บริหารกระแสเงินสดอย่างมีประสิทธิภาพ, ปรับรูปแบบการประกอบกิจการให้สอดคล้องกับการระงับกิจกรรมทางเศรษฐกิจชั่วคราว, สื่อสารกับคู่ค้าและลูกจ้างเพื่อให้เข้าใจและมั่นใจว่าธุรกิจจะดำเนินต่อไปได้ และสร้างรูปแบบธุรกิจที่สามารถปรับตัว มีความยืดหยุ่นโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตัลสนับสนุน

ข้อแนะนำสำหรับหน่วยงานที่สนับสนุน :
จัดให้มีหน่วยงานสนับสนุนด้านธุรกิจเพื่อเป็นจุดประสานงานระหว่างรัฐ กับ MSMEs และภาคส่วนต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาสำหรับ MSMEs อย่างรวดเร็ว รวมทั้งให้หน่วยงานสนับสนุนนี้มีบทบาทในการใช้เครือข่ายที่มีในต่างประเทศในการวิจัยและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง, นอกจากนี้ ยังเสนอใช้แพลตฟอร์มดิจิตัลในการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันในการเข้าถึงลูกค้าทั่วโลก

ข้อแนะนำสำหรับภาครัฐ :
สนับสนุนการเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการอย่างเสรี โดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์และอาหาร, ขยายการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้ MSMEs เข้าถึงการให้สินเชื่อระยะสั้นและสินเชื่อส่งออก, อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและบริการข้ามแดน โดยยึดหลักการภายใต้ความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้าของ WTO อาทิ เร่งรัดจัดทำการยอมรับการประเมินและการตรวจสอบสินค้าระหว่างประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะอุปกรณ์ทางการแพทย์และอาหาร ประสานความร่วมมือการจัดการข้ามแดนโดยเฉพาะด้านศุลกากรและหน่วยงานตรวจสอบด้านพืชและสัตว์ จัดตั้งศูนย์ประสานงานข้อมูลเกี่ยวกับการจำกัดการส่งออกและการข้ามแดน และให้มีระบบผู้ได้รับอนุญาตซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกและดูแลเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านสุขภาพ, รวมทั้งเร่งรัดให้มีระบบศุลกากรดิจิตัลเพื่อเร่งรัดกระบวนการผ่านศุลกากรด้วย

bottom of page