top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

WTO ช่วยขับเคลื่อนระบบการค้าโลกอย่างไรบ้าง?



ตอนที่ 2: WTO ช่วยอะไรเราบ้าง

การเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพึ่งองค์กรสำคัญในการกำกับดูแลและเป็นตัวกลางในการเจรจาการค้า องค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization) คือองค์กรระหว่างประเทศองค์กรเดียวในโลกที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศในระดับพหุภาคี รวมทั้งเป็นเวทีในการเจรจาลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้าและจัดทำกฎเกณฑ์​การค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนให้การค้าโลกมีความเสรียิ่งขึ้น บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังเป็นเวทีในการระงับข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก และเป็นเวทีในการตรวจสอบและทบทวนนโยบายการค้าของประเทศสมาชิก

ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา WTO ได้ทำหน้าที่อย่างดีเพื่อให้การค้าระหว่างประเทศเกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมทั้งสำหรับประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยการเสริมสร้างการค้าให้เป็นเสรี ส่งผลให้เกิดการสร้างงาน และการขยายตัวของการค้า การลงทุน ตลอดจนสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโลก


ข้อดีของการมี WTO

1. ช่วยลดค่าครองชีพและเพิ่มคุณภาพชีวิต การลดอุปสรรคทางการค้าในระดับพหุภาคีส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตและการดำเนินการค้า ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าได้มากขึ้น ในราคาที่ถูกลง


2. ลดความตึงเครียดทางการค้า การมีความตกลงที่ชัดเจน และมีกลไกการระงับข้อพิพาทที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สมาชิกสามารถหาข้อยุติต่อข้อพิพาทระหว่างกันได้ในลักษณะที่หลีกเลี่ยงความตึงเครียด และการใช้มาตรการรุนแรง

3. กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน การลดภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอันเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างงาน


4. ลดต้นทุนให้ธุรกิจระหว่างประเทศ การเรียกเก็บภาษีศุลกากร​ในอัตราเดียวกันสำหรับการนำเข้าวัสดุและสินค้าจากทุกประเทศและการใช้มาตรการโดยไม่เลือกปฏิบัติ ทำให้ผู้ประกอบการ​สามารถตัดสินใจ​เชิงธุรกิจได้ง่ายขึ้น​ และเลือกใช้ผลิตภัณ​ฑ์และวัตถุดิบ​ได้อย่างมีประสิทธิภาพ​มากที่สุด นอกจากนี้ ความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าและการอำนวยความสะดวกทางการค้าซึ่งทำให้ระบบการศุลกากรง่ายขึ้นและเป็นมาตรฐาน ส่งผลให้ภาคธุรกิจ​สามารถช่วยประหยัดเวลาและลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์​ได้อีกด้วย​


5. ส่งเสริมธรรมาภิบาล กฏเกณฑ์​และพันธกรณี​การค้าระหว่างประเทศซึ่งครอบคลุม​ทุกภาคส่วนเศรษฐ​กิจ ช่วยให้รัฐบาลดำเนินนโยบาย​โดยพิจารณา​ผลประโยชน์​ของทุกฝ่าย และปกป้องรัฐบาลจากกระบวนการทุจริตเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม นอกจากนี้ ความโปร่งใส (Transparency) มาตรการทางการค้าที่ชัดเจน และการไม่เลือกปฏิบัติ​ ยังช่วยลดความเสี่ยงในการตัดสินใจ​ที่ไร้หลักเกณฑ์​ของภาครัฐ​หรือการเอื้อประโยชน์​ให้กับกลุ่ม​ใดกลุ่ม​หนึ่ง​

6. ส่งเสริมการพัฒนาประเทศ ช่วยเหลือสมาชิกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศพัฒนาน้อยที่สุด เช่น มีข้อบทพิเศษสำหรับประเทศกำลังพัฒนารวมทั้งระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นในการดำเนินการตามความตกลงและข้อผูกพันต่างๆ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าตลอดจนการสนับสนุนในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการค้า และการเสริมสร้าง​ศักยภาพ​ในการจัดการกับข้อพิพาทและดำเนินการตามมาตรฐานทางเทคนิค นอกจากนี้ WTO ยังมีแนวปฏิบัติที่เป็นพิเศษแก่ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดโดยการยกเว้นจากการปฏิบัติ​ตามความตกลงต่างๆ ในหลายข้อบท


7. เป็นกระบอกเสียงแทนประเทศเล็กๆ สมาชิกทุกประเทศ​ รวมทั้งประเทศมหาอำนาจจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ภายใต้​ WTO ซึ่งมีกระบวนการ​ระงับข้อพิพาทที่เป็นธรรม นอกจากนี้ เวทีเจรจาของ WTO เพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับประเทศ​ขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยสมาชิกทุกประเทศมีเสียงเท่ากัน แตกต่างจากการเจรจาแบบทวิภาคีที่อำนาจการต่อรองตกอยู่ในมือของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ​ทำให้สามารถโน้มน้าวหรือกดดันประเทศที่เล็กกว่าในการเจรจาได้


8. ส่งเสริมการค้าที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย ความตกลงจัดตั้ง WTO มีหลักการส่งเสริมการใช้ทรัพยากร​โลกอย่างมีประสิทธิผล​ การพัฒนา​อย่าง​ยั่งยืน​ และปกป้องสิ่งแวดล้อม​ ตราบที่ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติซึ่งจะเห็นหลักการดังกล่าวในข้อบทต่างๆ ของความตกลง WTO เช่น การอนุญาต​ให้สมาชิกจำกัดการค้าเพื่อปกป้องชีวิตหรือสุขภาพของมนุษย​์ สัตว์​ หรือพืช เป็นต้น


9. ส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพ ความขัดแย้งทางการค้าเป็นปัจจัย​สำคัญที่ทำให้เกิดสงครามในอดีต ในการนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความตึงเครียดทางการค้านับแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade: GATT) ใน 1948 ถูก​จัดทำขึ้นเพื่อลดภาษีศุลกากรระหว่างประเทศ สร้างการค้าเสรี และจำกัดอุปสรรคทางการค้า ช่วยให้การค้าเป็นไปอย่างราบรื่น จัดการกับข้อพิพาทเกี่ยวกับประเด็นทางการค้าเพื่อหาทางออกที่สร้างสรรค์และเป็นธรรมให้กับประเทศต่างๆ โดยปราศจากความรุนแรง​ นอกจากนี้ ระบบการค้าพหุภาคียังสามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจเมื่อโลกตกอยู่ในความวุ่นวายและสามารถนำไปสู่เสถียรภาพได้


10. ทำผลงานให้ประจักษ์มากกว่าการสร้างข่าว แม้ประเด็นการเจรจาต่อรองและข้อพิพาทจะเป็นสิ่งที่ผู้คนมักสนใจ แต่งานที่หนักหน่วงและต่อเนื่องของ WTO จะดำเนินการห่างจากความสนใจของสื่อเพื่อช่วยขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศให้ราบรื่นและเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโลก โดยหลังจากการเจรจาสิ้นสุดลง WTO ยังต้องดำเนินงานหลังฉากเพื่อติดตามกำกับดูแลว่าสมาชิกได้ปฏิบัติ​ตามข้อตกลงอย่างครบถ้วนและภายในกำหนดเวลา ไม่ว่าจะเป็น การลดการกีดกันทางการค้า การแก้ไขกฎระเบียบและมาตรการที่ล้าสมัยและล่าช้า (Red Tape) ในด้านศุลกากรและการค้า การจำกัดการอุดหนุนสินค้าเกษตร การเปิดการเข้าถึงตลาดบริการ และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น​ เพื่อให้สมาชิกทุกประเทศ​ได้รับประโยชน์​สูงสุด​ตามเป้าประสงค์​ของความตกลงต่างๆ




11,772 views
bottom of page