ประเทศผู้สนับสนุนร่วมของโครงการริเริ่มที่สำคัญ 3 โครงการของ WTO ซึ่งประกอบด้วยโครงการการหารือร่วมกันด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Trade and Environmental Sustainability Structured Discussions: TESSD), การลดมลภาวะจากขยะพลาสติกและการค้าพลาสติกอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับ สิ่งแวดล้อม (Informal Dialogue on Plastics Pollution and Sustainable Plastics Trade: IDP) และการปฏิรูปการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel Subsidy Reform: FFSR) แสดงความมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าผลักดันให้ประเด็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ถูกพิจารณาเป็นปัจจัยสำคัญในการเจรจาทางการค้าในอนาคต และจะมี การหารือเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้กรอบของ WTO ด้วยจำนวนประเทศสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้นและมีหลากหลายทั้งประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กไปจนถึงประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้ว นาง Ngozi Okonjo-Iweala ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก ได้กล่าวถึงการหารือของประเทศผู้สนับสนุน ดังกล่าวว่าเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่งสำหรับ WTO อย่างแท้จริง นับตั้งแต่ได้มีการกล่าวถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมครั้งแรกภายใต้ GATT ในช่วงต้นปี พ.ศ.2514 และได้เริ่มเจรจาประเด็นการค้าและสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ. 2544
องค์การการค้าโลกกำลังมีการพิจารณาว่ากฎระเบียบทางการค้าและการอภิปรายร่วมทางการค้าจะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลกได้อย่างไร ซึ่งปัจจุบัน สมาชิก WTO มากกว่าครึ่ง เป็นผู้สนับสนุนหรือร่วมสนับสนุนโครงการอย่างน้อยหนึ่งโครงการที่ช่วยส่งเสริมการแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อม การค้าและองค์การการค้าโลก เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ตามที่กรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป นาย Valdis Dombrovskis ได้กล่าวไว้ว่า การประสานงานในระดับพหุภาคีเป็นสิ่งสำคัญ
นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า การท่องเที่ยวและการลงทุนของออสเตรเลีย นาย Dan Tehan ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกัน ในการเจรจา IDP ที่มีการเข้าร่วมโดยออสเตรเลีย จีน เอกวาดอร์ บาร์เบโดส ฟิจิ และโมร็อกโก และการอภิปรายนั้น เปิดกว้างสำหรับภาคประชาสังคม อุตสาหกรรม และกลุ่มนานาชาติอื่น ๆ การจัดการปัญหาสำคัญระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะจากพลาสติก และการพัฒนาเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงความต้องการและความท้าทายของทั้งประเทศที่ร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนาอย่างเหมาะสมเป็นเป้าหมายที่ผู้ร่วมสนับสนุนหลายคนร่วมกันผลักดัน โดยที่ผ่านมาในเดือนธันวาคม พ.ศ.2564 ได้มีการร่างแถลงการณ์ระดับรัฐมนตรีในเรื่องนี้ ซึ่งได้กำหนดแผนการดำเนินงานเพื่อลดมลภาวะจากพลาสติกและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การค้าพลาสติกที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม โดยระบุการดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การแบ่งปันประสบการณ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการไหลเวียนทางการค้าและห่วงโซ่อุปทาน การเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความร่วมมือด้านกฎระเบียบกับองค์กรระหว่างประเทศอื่น การระบุนโยบายการค้า อย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และการเสริมสร้างความช่วยเหลือด้านเทคนิคสำหรับประเทศที่มีเศรษฐกิจเปราะบาง
ในการอภิปราย TESSD ซึ่งเปิดตัวในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2563 ได้มีสมาชิก WTO 71 ประเทศเข้าร่วมอภิปราย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมการทำงานที่มีอยู่ของคณะกรรมการการค้าและสิ่งแวดล้อมของ WTO รวมถึงคณะกรรมการและองค์กรของ WTO ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งมีความคิดริเริ่มพยายามที่จะส่งเสริมความโปร่งใสและ การแบ่งปันข้อมูล โดยระบุพื้นที่สำหรับการทำงานในอนาคตภายใน WTO นอกจากนี้ยังพยายามสนับสนุน ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและความต้องการสร้างขีดความสามารถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศพัฒนา น้อยที่สุด (Least Developed Countries: LDCs) เพื่อส่งมอบความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ของ WTO โดยแถลงการณ์ระดับรัฐมนตรีเกี่ยวกับความยั่งยืนทางการค้าและสิ่งแวดล้อมที่ออกโดยผู้สนับสนุน TESSD ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2564 ได้กำหนดงานในอนาคตสำหรับการริเริ่มในด้านต่าง ๆ เช่น การค้าและ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การค้าสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหมุนเวียน และห่วงโซ่อุปทาน ที่ยั่งยืน รวมถึงได้ปรับปรุงแผนการดำเนินงานใน พ.ศ. 2565
สำหรับเรื่อง FFSR สมาชิก 45 ประเทศได้ลงนามในแถลงการณ์ระดับรัฐมนตรีในการปฏิรูปการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลในเดือนธันวาคม พ.ศ.2564 โดยได้กล่าวถึงเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดการบริโภคอย่างสิ้นเปลือง โดยตั้งข้อสังเกตว่าเงินอุดหนุนดงกล่าวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี พ.ศ.2562 จึงได้เรียกร้องให้ยุติการให้เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพดังกล่าว และได้กล่าวว่าการปฏิรูปนี้จำเป็นต้องคำนึงถึงความต้องการและเงื่อนไขของประเทศกำลังพัฒนาด้วยเช่นกัน
การพิจารณาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมตามข้อตกลง Marrakesh ในการจัดตั้งองค์การการค้าโลก โดยการขยายกำลังการผลิตในสินค้าและบริการจะต้องสอดคล้องกับการใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสมตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ องค์การการค้าโลกนับเป็นเวทีสำคัญสำหรับสมาชิก WTO ทุกประเทศในการอภิปรายปัญหาที่ เชื่อมโยงระหว่างการค้าและสิ่งแวดล้อม
โครงการริเริ่มที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อมทั้งสามโครงการดังกล่าวจะมีการดำเนินการร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งจะก่อให้การปรับปรุงข้อตกลงทางการค้าใหม่ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และสามารถดำเนินงานได้จริง
ผลกระทบและทิศทางของประเทศไทย
จากการเข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) อันเป็นการประชุมระดับโลกของผู้นำชาติต่าง ๆ เพื่อความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา สิ่งแวดล้อมของโลก และการกำหนดเป้าหมายการพัฒนาของประเทศและเศรษฐกิจโลกไปสู่ความยั่งยืน และ ลดผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวนั้น เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยเองพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก รวมไปถึงการแสดงเจตจำนงเพื่อปรับเปลี่ยนในภาคอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจของประเทศให้เข้าสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน และเป็นเศรษฐกิจแบบหมุนเวียนในอนาคต สำหรับประเทศไทยมีกลยุทธ์ระยะยาวในการปรับปรุงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยให้ต่ำลง จากการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พบว่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ในการรักษาอุณหภูมิให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปีพ.ศ. 2593 และหากจะรักษาอุณหภูมิให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี พ.ศ.2633
รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมได้เริ่มให้ความสำคัญกับเป้าหมายนี้แล้ว ภาคพลังงานซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด (71.65% ของทั้งหมดของประเทศ) เป็นกลุ่มแรกที่มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย ความเป็นกลางของคาร์บอน (การปล่อย CO2 สุทธิเป็นศูนย์) ในแผนพลังงานแห่งชาติสำหรับปี พ.ศ. 2608-2613 นี่เป็นการเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยมสำหรับเป้าหมาย Net Zero ระดับชาติ กฎและข้อเสนอแนะเหล่านี้สอดคล้องกับความพยายามของ WTO ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมการอภิปรายและขับเคลื่อนการค้าเพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ขั้นตอนที่สำคัญและแสดงศักยภาพในตลาดการค้าโลกโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
Source:
Commentaires