top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

WTO คาด โควิดฉุดการค้าสาหัสกว่าวิกฤตการเงินโลก




องค์การการค้าโลกหรือ WTO* ประเมินว่า วิกฤตโควิด-19 อาจทำให้การค้าสินค้าในตลาดโลกทรุดตัวร้อยละ 13 – 32 รุนแรงกว่าวิกฤตการเงินโลกปี 2551 – 2552 โดยเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วหรือไม่ ขึ้นกับระยะเวลาการแพร่ระบาด และประสิทธิภาพมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของภาครัฐ


*“Trade set to plunge as COVID-19 pandemic upends global economy,” WTO, 8 เมษายน 2563


ผลกระทบต่อการค้าโลก


WTO วิเคราะห์ผลกระทบต่อการค้าโลกใน 2 สถานการณ์ ได้แก่ (1) สถานการณ์ด้านบวก โดยหลังจากโควิดฉุดการค้าโลกต่ำลง เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในครึ่งหลังของปี 2563 และดันให้การค้าโลกขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราการขยายตัวก่อนการเกิดโรคระบาด และ (2) สถานการณ์ด้านลบ โดยการแพร่ระบาดที่ยืดเยื้อจะส่งผลให้การค้าโลกทรุดตัวหนักกว่าสถานการณ์แรก และใช้เวลานานในการฟื้นตัว


ในสถานการณ์ด้านบวก วิกฤตโควิด-19 อาจส่งผลให้การค้าโลกลดลงร้อยละ 13 ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ในปี 2564 ขณะที่ในสถานการณ์ด้านลบ การค้าโลกอาจหดตัวถึงร้อยละ 32 ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 ในปี 2564 โดยทั้งสองสถานการณ์ การส่งออกจากภูมิภาคอเมริกาเหนือและเอเชียจะลดลงมากที่สุด ขณะที่การนำเข้าของภูมิภาคอเมริกากลาง ใต้ และเหนือจะหดตัวมากที่สุด


ปัจจัยที่ทำให้วิกฤตโควิด-19 ต่างจากวิกฤตการเงินโลก


ในการแก้ปัญหาวิกฤตการเงินโลก รัฐบาลหลายประเทศใช้นโยบายการเงินและการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งให้เงินเยียวยาชั่วคราวแก่ภาคธุรกิจและครัวเรือน อย่างไรก็ดี มาตรการล็อกดาวน์และการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้แรงงาน การคมนาคม และการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก ขณะที่ธุรกิจออนไลน์และการให้บริการด้านดิจิทัลมีมูลค่าพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ การหยุดชะงักของห่วงโซ่มูลค่าในช่วงโควิด-19 อาจทำให้การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่มูลค่าซับซ้อน โดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ซบเซาอย่างที่ไม่เคยปรากฏในช่วงวิกฤตการเงิน


อีกปัจจัยที่ทำให้โควิด-19 ต่างจากวิกฤตการเงินคือ การค้าโลกไม่สามารถฟื้นตัวกลับสู่ทิศทางเดิมเมื่อวิฤตการเงินคลี่คลาย ขณะที่การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของการค้าโลกหลังวิกฤตโควิด-19 อาจเป็นไปได้ หากการแพร่ระบาดเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในทัศนะของภาคธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งอาจทำให้การลงทุนและการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเกือบเท่าระดับเดิม อย่างไรก็ดี หากการแพร่ระบาดยืดเยื้อ อาจทำให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ส่งผลให้การค้าโลกฟื้นตัวเพียงระดับหนึ่ง


การค้าของไทยช่วงต้นปี 2563


ระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2563 มูลค่าส่งออกและนำเข้าสินค้าของไทยลดลงร้อยละ 4.7 และร้อยละ 10 ตามลำดับ แม้ผลกระทบจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่มูลค่ายังไม่ปรากฏชัดในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้ ไทยเริ่มส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และชิ้นส่วนลดลงร้อยละ 6 และร้อยละ 4.8 ตามลำดับ โดยในอุตสาหกรรมดังกล่าว ไทยพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างชาติสูงเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน รองจากเวียดนามและมาเลเซีย ขณะเดียวกัน เนื่องจากไทยมีจุดแข็งเรื่องความหลากหลายของสินค้าและการกระจายตัวของตลาด ทำให้การส่งออกสินค้าจำนวนมาก อาทิ เครื่องจักร อัญมณี ยางและผลิตภัณฑ์ น้ำตาล ผัก ผลไม้ และอาหารเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น ยังขยายตัวได้ดี

ดร. ดวงกมล คาร์พินสกี

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

15 เมษายน 2563

Image: WTO

258 views0 comments

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page