เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 WTO ได้มีการจัดการประชุมความช่วยเหลือเพื่อการค้า ครั้งที่ 54 (Fifty-fourth Session on Aid for Trade) ภายใต้คณะกรรมการว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (Committee on Trade and Development) โดยที่ประชุมได้มีโอกาสร่วมกันในการหารือเพื่อทบทวนการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเพื่อการค้าประจำปี 2565 ของประเทศสมาชิก WTO และความคืบหน้าในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือเพื่อการค้าของประเทศสมาชิก องค์การระหว่างประเทศ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมา WTO ได้มีการจัดทำรายงานการทบทวนความช่วยเหลือเพื่อการค้ามาโดยตลอด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและติดตามข้อมูลเกี่ยวกับลำดับความสำคัญและการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการรับและการให้ความช่วยเหลือเพื่อการค้า นโยบายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและด้านการส่งเสริมสตรีในทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก โดยสำหรับในปีนี้ ได้มีการหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก เกี่ยวกับการจัดทำรายงานการทบทวนความช่วยเหลือเพื่อการค้าประจำปี ๒๕๖๕ (Aid for Trade Global Review 2022) เช่นเดิม โดยนอกจากจะพิจารณารวบรวมและวิเคราะห์ด้านนโยบายต่าง ๆ ตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังจะได้มีการจัดทำบทวิเคราะห์เรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจและการค้าที่สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วย ทั้งนี้ การจัดทำรายงานดังกล่าว ทาง WTO ได้ขอให้ประเทศสมาชิกได้ตอบแบบสำรวจเพื่อนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ โดยมีกำหนดเผยแพร่ในช่วง ฤดูร้อนของปี 2565
นอกจากนี้ ระหว่างการประชุมฯ ที่ประชุมยังได้ใช้โอกาสในการรับฟังรายงานและหารือร่วมกันเกี่ยวกับ การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Implementation of Aid-for-Trade Work Activities) ด้วย โดยในส่วนของประเทศสมาชิกนั้น มีหลายประเทศได้รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการดำเนินงานเรื่องนี้ให้ที่ประชุม ได้รับทราบ เช่น จีน ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการและการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนาและ LDCs รวมถึงการบริจาควัคซีนกว่า 2 พันล้านโดสทั่วโลก ขณะที่เกาหลีใต้ ได้รายงานการให้ความช่วยเหลือแก่ MSMEs ในภูมิภาคแอฟริกาด้านเทคโนโลยีและการทำธุรกิจการเกษตรภายใต้โครงการ NTG V Program และรัสเซีย ได้รายงานถึงการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาแก่ประเทศกำลังพัฒนาผ่านหน่วยงานของสหประชาชาติและการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้ากับทวีปแอฟริกาโดยผ่านกลไก การประชุม Russia-Africa Summit นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้รายงานให้ทราบถึงโครงการ PROSPER African Initiative ซึ่งมีส่วนช่วยในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับภาคธุรกิจในทวีปแอฟริกาด้วย
ระหว่างการประชุมฯ สถาบันการเงินระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นพันธมิตร การดำเนินงานร่วมกับ WTO ก็ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อมูลด้านต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศสมาชิก อาทิเช่น ธนาคารโลก (World Bank) ได้ใช้โอกาสนี้ รายงานสรุปแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและความท้าทายที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ให้ที่ประชุมได้รับทราบ และชี้ให้เห็นว่า ความท้าทายดังกล่าวสามารถบรรเทาได้หากมีการกระจายวัคซีนโรคโควิด-19 อย่างรวดเร็วและเท่าเทียม รวมถึงการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเสริมสร้างความร่วมมือระดับโลก โดยเฉพาะ การกำกับดูแลทางการค้า
ขณะที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า สถานการณ์การค้าในเอเชียคาดว่า จะกลับฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องและเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในปี 2565 จะมีอัตราการเติบโตร้อยละ 5.3 ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ADB ได้ดำเนินการโดยให้การสนับสนุนเงินกู้ เงินช่วยเหลือ ความช่วยเหลือทางวิชาการ รวมถึง การรณรงค์การฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา และการสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อการค้าที่เกี่ยวข้องกับ New Digital Economy ด้วย
นอกจากนี้ หน่วยงานอื่น ๆ อาทิ The Islamic Trade Finance Corporation (ITFC) ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนทางการเงินแก่หลายโครงการ อาทิ โครงการสะพานการค้าอาหรับ-แอฟริกา และการสนับสนุนโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในโมร็อกโก ขณะที่ OECD ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม Peer Learning Event on Aid for Trade เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ ซึ่งเน้นการให้ความสำคัญกับโครงการด้านการพัฒนาศักยภาพแก่ประเทศกำลังพัฒนา และ The International Trade Center (ITC) ได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์ปี ๒๕๖๕-๒๕๖๘ ซึ่งเน้นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้านเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่กลุ่ม MSMEs
ขณะที่ Enhanced Integrated Framework (EIF) ได้มีการนำเสนอภาพรวมของโครงการด้านการค้าที่สนับสนุนกลุ่มประเทศ LDCs โดยยกตัวอย่างติมอร์เลสเต ซึ่ง EIF ได้สนับสนุนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มอำนาจและบทบาททางเศรษฐกิจของสตรี และโครงการประเมินความต้องการด้านเทคโนโลยีในลาวและเซเนกัล เป็นต้น และ The Standards and Trade Development Facility (STDF) ได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับคู่มือ Guide of Good Regulatory Practices (GRP) ซึ่ง STDF ได้จัดทำขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ โดยเน้นสาระเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎระเบียบและการดำเนินการภายในให้สอดคล้องกับมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) ระหว่างประเทศ และข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ Food Inspection Through Virtual School โดยร่วมมือกับองค์กรพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Industrial Development Organization) เพื่อพัฒนาบุคลากรและเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ ด้านความปลอดภัยของอาหารตลอดห่วงโซ่อาหาร และการเพิ่มอำนาจและบทบาททางเศรษฐกิจของสตรีในประเทศกำลังพัฒนา เป็นต้น
Comments