top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

COVID-19 โอกาส-ความท้าทาย IP ใหม่กับธุรกิจ E-Commerce


องค์การการค้าโลก หรือ WTO เตรียมจัดการประชุมรัฐมนตรีการค้าครั้งที่ 12 (12th WTO Ministerial Conference Meeting: MC12) ในช่วงวันที่ 30 พฤศจิกายน - 3 ธันวาคม 2564 ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ โดยประเด็นหลักที่สมาชิกให้ความสำคัญในการประชุม MC12 นั้น รวมถึงการอุดหนุนประมง พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) กฎระเบียบภายในของภาคบริการ การปฏิรูปกระบวนการระงับข้อพิพาท การปฏิบัติเป็นพิเศษต่อประเทศพัฒนาน้อยที่สุด การอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนสินค้าเกษตร เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ-วัคซีน และ การช่วยเร่งฟื้นเศรษฐกิจโลก ซึ่งหลายเรื่องมีการหารือกันล่วงหน้าไปบ้างแล้ว


นอกเหนือจาก WTO แล้ว ยังมีอีกหนึ่งองค์กร คือ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) หรือ WIPO ที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง E-Commerce เช่นกัน โดยมีมุมมองว่า E-Commerce สามารถเป็นช่องทางในการส่งเสริมธุรกิจให้แก่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้กว้างขึ้น เช่น กลุ่มชนพื้นเมือง (Indigenous people) โดยเฉพาะชนพื้นเมืองสตรี และจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) ของกลุ่มชนพื้นเมือง ซึ่งทำธุรกิจโดยผ่าน E-Commerce หรือ Social Media ต่าง ๆ


โดยคำนึงถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว WIPO ได้จัดทำโครงการต่าง ๆ ที่ต้องการสนับสนุนกลุ่มชนพื้นเมืองให้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญากับการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการส่งเสริมธุรกิจควบคู่กันไป อาทิ การจัดทำ WIPO Indigenous and Local Community Women Entrepreneurship Program โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ โดยตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา มีนักธุรกิจสตรีซึ่งเป็นชนพื้นเมืองได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมกิจกรรมของ WIPO ทั้งในส่วนของการฝึกอบรม การให้คำแนะนำ และการจัดการจับคู่ทางธุรกิจ โดย WIPO ได้ร่วมงาน การจัดกิจกรรมดังกล่าวกับองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น International Labour Organization (ILO) International Trade Centre (ITC) และ International Trademark Association (INTA) เป็นต้น

นอกจากนี้ WIPO ยังได้จัดการสัมมนาออนไลน์เพื่อให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง เช่น ได้มีการจัด Webinar ในหัวข้อ E-Commerce and Intellectual Property for Indigenous Peoples and Local Community Entrepreneurs เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2563 โดยคณะผู้เชี่ยวชาญด้าน E-Commerce ซึ่งมีผู้ประกอบการจากท้องถิ่นและผู้สนใจจาก ทั่วโลกราว 300 คน เข้าร่วมการหารือในประเด็นเกี่ยวกับความท้าทายด้านทรัพย์สินทางปัญญาและโอกาสในการทำธุรกิจ E-Commerce สำหรับกลุ่มชนพื้นเมือง


WIPO มองว่า การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการพื้นเมืองและคนท้องถิ่นในชุมชนซึ่งโดยทั่วไปทำธุรกิจโดยการขายสินค้าและบริการซึ่งใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge) โดยการเปิดร้านจำหน่ายสินค้าและบริการเอง หรือจำหน่าย/ให้บริการตามตลาดหรืองานเทศกาลต่าง ๆ และโดยที่กระแสการค้าของโลกที่เปลี่ยนไป โดยมีการ E-Commerce และการใช้ Social Media มากขึ้น ทำให้เกิดความท้าทายด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องชิ้นงานและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับคนทั่วไปและชนกลุ่มพื้นเมืองมากขึ้น


ประเด็นสำคัญที่ได้มีการหารือในระหว่างการจัดสัมมนาดังกล่าว ได้แก่ (1) การให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจ (Digitalization) และความสำคัญของ E-Commerce และ (2) การนำเครื่องมือด้านการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ในการปกป้องและส่งเสริมผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการของชนพื้นเมือง


หนึ่งในวิทยากร ซึ่งมาจาก ITC ชี้ให้เห็นว่า E-Commerce เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการจาก ชนกลุ่มพื้นเมือง เนื่องจากสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ในระดับโลกได้ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนและเวลาในการโฆษณาสินค้า ช่วยให้การติดต่อระหว่างผู้บริโภคและผู้จำหน่ายรวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดอปุสรรคด้านการขนส่งและต้นทุน การขนส่ง เป็นต้น ขณะที่ E-Commerce ได้สร้างความท้าทายใหม่สำหรับผู้ประกอบการกลุ่มชนพื้นเมือง เช่น ความจำเป็นในการพัฒนาทักษะและประสบการณ์ด้านไอที ความกลัวเทคโนโลยี การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที การสร้างนวัตกรรมใหม่ และความมั่นคงทางไซเบอร์ เป็นต้น


ขณะที่วิทยากรจากมหาวิทยาลัย Bocconi และ Case Western Reserve University ระบุว่า เครื่องมือด้าน IP สามารถให้ความคุ้มครองแก่ภูมิปัญญาท้องถิ่นได้ เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ และความลับทางการค้า สามารถเป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสูตรของส่วนประกอบผลิตภัณฑ์หรือสูตรอาหารพื้นเมืองได้ หรือ สิทธิบัตร ตราสินค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ ลิขสิทธิ์ และความลับทางการค้า สามารถคุ้มครองเทคนิคการทอผ้าพื้นเมือง การใช้วัตถุดิบ การตกแต่ง การใช้สีและลวดลาย เป็นต้น


อย่างไรก็ดี นอกจากการคุ้มครองแล้ว ผู้ประกอบการชนพื้นเมืองจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการจัด การภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย เช่น การใช้ประโยชน์จากตราสินค้าร่วม หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) โดยควรสามารถที่จะอธิบายความเชื่อมโยงระหว่างภูมิปัญญาท้องถิ่นและการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ประโยชน์ในการทำธุรกิจด้วย

นอกเหนือจากกิจกรรมดังได้กล่าวข้างต้นแล้ว WIPO ยังได้รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ WIPO Indigenous and Local Community Women Entrepreneurship Program ไว้ด้วย ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.wipo.int/tk/en/news/tk/2021/news_0020.html


*************************




13 views0 comments

Comments


bottom of page