นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนโลกในอนาคต
นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI ถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนโลกในอนาคต เรามักจะเริ่มคุ้นเคยกับ AI มากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ไปจนถึงการวินิจฉัยและรักษาทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งการนำ AI ไปใช้ในการประมวลผลการคำนวณที่มีความซับซ้อน การพยากรณ์อากาศ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การเพิ่มผลผลิตทางอุตสาหกรรม เป็นต้น
โดยที่เทคโนโลยี AI มีความสำคัญมากขึ้น ทำให้องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization) หรือ WIPO ได้ติดตามพัฒนาการเรื่อง AI มาโดยตลอด และได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับแนวโน้มของเทคโนโลยี AI ขึ้นมา เพื่อศึกษาว่า AI สาขาใดที่มีการพัฒนานวัตกรรมมากที่สุด เพื่อจะได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
จากรายงานเอกสาร WIPO Technology Trend ซึ่งจัดทำขึ้นเมื่อปี 2562 ระบุว่า นับตั้งแต่มี การพัฒนา AI ขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1950 ได้มีการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับ AI กว่า 340,000 รายการ และมีการเผยแพร่สิ่งพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับ AI มากกว่า 1.6 ล้านชิ้น นอกจากนี้ การจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับ AI ก็ยังมีอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจดสิทธิบัตรระบบที่สามารถเรียนรู้ได้จากตัวอย่างด้วยตนเอง หรือ Machine Learning ที่ในรายงานฯ ระบุว่า มีการจดสิทธิบัตรมากกว่าหนึ่งในสามของสิ่งประดิษฐ์ที่มีการขอสิทธิบัตรทั้งหมด โดยมีการจดเอกสารสิทธิบัตรรวม 134,777 ฉบับ และมีการยื่นจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยถึง ร้อยละ 28 ต่อปี โดยในปี 2559 มีการยื่นคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับ Machine Learning รวมถึง 20,195 รายการ
นอกจากนี้ การพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ให้สามารถเข้าใจภาพหรือวิดีโอในรูปแบบเดียวกับระบบการมองเห็นของมนุษย์ หรือที่เรียกว่า Computer vision นั้น มีรายงานว่า มีการขอจดสิทธิบัตรมากกว่า ร้อยละ 49 ของสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับ AI ทั้งหมด โดยมีเอกสารการจดสิทธิบัตรรวม 167,038 ฉบับ และมีการจดสิทธิบัตรเพิ่มเฉลี่ยประมาณร้อยละ 24 ต่อปี โดยในปี 2559 มีการยื่นขอสิทธิบัตรของ Computer vision รวม 21,011 ฉบับ ขณะที่ในช่วงปี 2556 จนถึงปี 2559 การจดสิทธิบัตรระบบหุ่นยนต์และวิธีการควบคุมก็มิได้น้อยหน้า โดยมีการจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 55 ต่อปี
สำหรับการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับ AI ในสาขาอุตสาหกรรมและการบริการด้านต่าง ๆ นั้น พบว่า สาขาโทรคมนาคมและการขนส่ง มีสัดส่วนการจดทะเบียนสิทธิบัตรด้าน AI เท่ากันคือ ประมาณ ร้อยละ 15 ของการจดสิทธิบัตรทั้งหมด ขณะที่สาขาชีววิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรร้อยละ 12 และสาขาปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ (Human Computer Interaction - HCI) มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรร้อยละ 11 เป็นต้น
ในส่วนของประเภทของผู้จดสิทธิบัตร AI นั้น รายงานระบุว่า นอกเหนือจากสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยแล้ว พบว่า ภาคเอกชนซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำจากจากญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และจีน มีการจดสิทธิบัตรด้าน AI มากที่สุด โดยจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า ในบรรดาบริษัทชั้นนำของโลกที่ยื่นจดสิทธิบัตรรวม 20 บริษัท มีบริษัทชั้นนำจากญี่ปุ่นยื่นจดสิทธิบัตรมากที่สุดถึง 12 บริษัท รองลงมา เป็นบริษัทจากสหรัฐฯ โดยมีการจดสิทธิบัตร 3 บริษัท และรองลงมาอีก คือ บริษัทจากจีน 2 บริษัท
ในส่วนของบริษัทของสหรัฐฯ นั้น รายงานระบุว่า บริษัท IBM และบริษัท Microsoft เป็นผู้นำในการจดสิทธิบัตร AI โดยบริษัท IBM มีการจดสิทธิบัตรแอปพลิเคชัน AI ที่มากที่สุด ตามมาด้วยบริษัท Microsoft ขณะที่การจดสิทธิบัตร AI จากจีน มีบริษัท State Grid Corporation เป็นผู้นำในการยื่นจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับ AI
ในส่วนขององค์กรด้านการศึกษาและการวิจัย รายงานยังระบุว่า ตั้งแต่ปี 2556 ถึง 2559 พบว่า มหาวิทยาลัยและองค์กรวิจัยของจีน โดยเฉพาะ Chinese Academy of Sciences (CAS) มีบทบาทนำ ในการขอสิทธิบัตรมากกว่า 2,500 ประเภท และมีเอกสารทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับ AI มากกว่า 20,000 ฉบับที่มีการเผยแพร่
จากแนวโน้มการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ WIPO เริ่มที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนโยบายด้าน AI มากขึ้น โดยล่าสุด WIPO ได้มีการจัดกิจกรรมสนทนาระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องด้าน AI หรือที่เรียกว่า WIPO Conversation on Intellectual Property (IP) and Artificial Intelligence (AI) เพื่อใช้เป็นเวทีสำคัญในการหารือร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้กำหนดนโยบายและผู้ที่สนใจเกี่ยวกับผลกระทบของ AI ต่อนโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยกิจกรรมดังกล่าวเริ่มต้นครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 2562 ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 และครั้งที่ 3 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563
กิจกรรมสนทนาดังกล่าวของ WIPO เป็นกิจกรรมที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจจากทุกภาคส่วนจากทุกประเทศสมาชิก WIPO ทั่วโลก โดยจากผลของการจัดกิจกรรมดังกล่าว ทำให้ WIPO ได้จัดทำเอกสารขึ้นมาฉบับหนึ่ง โดยรวบรวมประเด็นคำถามต่าง ๆ และข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับ AI หลายประเด็น ทั้งในส่วนของ (1) ประเด็นที่เกี่ยวกับคำนิยามของ AI และการกำหนดคำนิยามที่เกี่ยวข้องกับ AI เพื่อให้มีความชัดเจนที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาในส่วนของการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป (2) ประเด็นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของผลงานและสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจาก AI โดยในส่วนนี้ ได้รวบรวมประเด็น ต่าง ๆ ที่มีการพูดคุยหารือกันในเรื่องสิทธิบัตรการประดิษฐ์ (Inventorship) และการเป็นเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ (Ownership) เช่น กรณีที่มีการพัฒนาให้ AI สร้างงานศิลปะขึ้นมา คำถามคือ ใครจะเป็นผู้ที่สร้างสรรค์ผลงานดังกล่าว เพราะมนุษย์อาจเป็นผู้ที่สร้างให้ AI ทำงานและพัฒนาระบบจนทำให้ AI สามารถเลือกภาพต่างๆ มาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้ เป็นต้น (3) ประเด็นการให้สิทธิบัตรและการเปิดเผยข้อมูล ความเป็นเจ้าของงานออกแบบ (4) ประเด็นเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ข้อมูลและความลับทางการค้า และ (5) ประเด็นเครื่องหมายการค้าและการปรับปรุงกฎหมาย เนื่องจากในบางกรณี AI สามารถมีผลต่อการเลือกสินค้าของผู้บริโภค โดยช่วยในการเปรียบเทียบสินค้าและบริการสำหรับผู้บริโภคก่อนการตัดสินใจ หรือการที่ AI อาจให้คำแนะนำหรือจำกัดทางเลือกของผู้บริโภคในการเลือกสินค้าและบริการ หรือหากการทำงานของ AI นำไปสู่การซื้อสินค้าปลอม ผู้ใดจะเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจในรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ สามารถที่จะเข้าไปสืบค้นและอ่านรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ของ WIPO ที่ https://www.wipo.int/about-ip/en/artificial_intelligence/conversation.html
จะเห็นได้ว่า AI เป็นเทคโนโลยีที่ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที และมีแนวโน้มที่จะมีการจดสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเรื่องนี้ ประเด็นเอกสารของ WIPO ซึ่งรวบรวมสาระเกี่ยวกับประเด็นคำถาม ต่าง ๆ เกี่ยวกับ AI จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการออกแบบและกำหนดนโยบายและแนวทางในการจัดทำกฎระเบียบของโลกในอนาคต โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกต่อการพัฒนานวัตกรรม AI และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับ AI ต่อไป ซึ่งในส่วนของไทย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียควรจะต้องติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การกำหนดนโยบายและกฎระเบียบดังกล่าวในอนาคตมีความสมดุล เป็นประโยชน์ เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย
*******************
ดร. พรพิมล สุคันธวณิช
Comments