เมื่อการค้าระหว่างประเทศเติบโตขึ้น หลายประเทศได้รับผลประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าที่ตนมีความเชี่ยวชาญในการผลิต หรือสามารถทำขึ้นได้ในประเทศตนเท่านั้น มูลค่าของสินค้านั้น จะมีมูลค่าสูงขึ้นเมื่อได้ระบุว่ามาจากพื้นที่ในประเทศที่ส่งออก เช่น ไวน์เบอร์กันดี (Burgundy) หรือแชมเปญ (Champagne) เป็นต้น ดังนั้น เพื่อป้องกันการเลียนแบบหรือทำให้ลูกค้าเข้าใจผิดในสินค้า จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดให้ขึ้นทะเบียนสินค้าที่มีคุณลักษณะเฉพาะของประเทศนั้น ๆ ซึ่งเรื่องนี้ หลายประเทศได้ร่วมตกลงกันในปี 1958 ผ่านข้อตกลงที่เรียกว่า ความตกลงลิสบอน (Lisbon Agreement for the Protection of Appellation of Origin and Their International Registration) ซึ่งเป็นข้อตกลงกำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิกจะต้องปกป้องชื่อของแหล่งกำเนิดของสินค้าตน เพื่อประกาศให้ประเทศสมาชิกรับทราบถึงคุณภาพและลักษณะเด่นของสินค้าตน จากสภาวะแวดล้อมทางภูมิศาสตร์นั้น ๆ โดยข้อตกลงฉบับนี้ มีการนิยามคำว่า เครื่องหมายแหล่งกำเนิด (Appellations of Origin) โดยให้หมายถึงการบ่งชี้ภูมิศาสตร์ของประเทศ ภูมิภาค หรือท้องถิ่น ระบุถึงแหล่งกำเนิดผลิตภัณฑ์ คุณภาพ หรือคุณลักษณะเฉพาะที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในสิ่งแวดล้อมภูมิศาสตร์นั้น รวมทั้งที่มีปัจจัยจากธรรมชาติและมนุษย์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนประเทศสมาชิกภาคีข้อตกลงฉบับนี้มีจำนวนน้อย (17 ประเทศ) และกระบวนการภายในหลังจากได้รับการคุ้มครองมีความยุ่งยาก อย่างเช่น การฟ้องร้องตามข้อตกลงฉบับนี้จะต้องดำเนินการตามกระบวนการภายในประเทศสมาชิกภาคีเท่านั้น เมื่อสมาชิกของความตกลงแกตต์ (หรือปัจจุบัน คือ องค์การการค้าโลก) ได้ลงนามในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPS) ที่มีความครอบคลุมการคุ้มครองระบบทรัพย์สินทางปัญญาทั้งหมด ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนคำนิยามเครื่องหมายแหล่งกำเนิด เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indicators: GI)
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ คือ สิ่งที่ใช้บ่งชี้ว่าสินค้านั้นมีแหล่งกำเนิดในดินแดนประเทศสมาชิกหรือในภูมิภาคหรือท้องถิ่นของดินแดนนั้น ซึ่งมีคุณภาพ (Quality) ชื่อเสียง (Reputation) หรือลักษณะอื่นๆ(Characteristic) ของสินค้ามีความเกี่ยวโยงสำคัญกับแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์นั้น (Essentially Attribute to its Geographical Origin) โดยความคุ้มครองแบ่งออกเป็น 2 ระดับ ได้แก่
1. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ใช้กับสินค้าทั่วไป ได้แก่ ผลผลิตทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์ทางหัตถกรรม และอุตสาหกรรม โดยเจ้าของสิทธิมีสิทธิในการห้ามใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับสินค้าที่ไม่ได้มาจากสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้น และการใช้โดยก่อให้เกิดความสับสนในการใช้ผลผลิต เข้าใจผิดในลักษณะหรือคุณภาพของสินค้า
2. สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ใช้กับสินค้าเฉพาะอย่าง การใช้ชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์กับสินค้าบางชนิด (เช่น ไวน์และสุรา) อาจสื่อได้ถึงเจ้าของสิทธิได้ เจ้าของสิทธินี้ได้สิทธิในการคุ้มครองพิเศษกว่าการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทาภูมิศาสตร์ทั่วไป เป็นการห้ามการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์นั้นทุกกรณี แม้จะไม่ได้ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดก็ตาม เพื่อคุ้มครองไม่ให้มีแสดงถึงแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้าโดยใช้
คำว่า “ชนิด” หรือ “แบบ” หรือคำอื่น ๆ ที่มีทำนองเดียวกัน อาทิเช่น ผู้ผลิตไวน์ในประเทศไทยไม่สามารถใช้คำว่า “Burgundy” ในสินค้าได้เลย เป็นต้น
ประเทศไทยมีการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ผ่าน พระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ. 2546 ในการขึ้นทะเบียน และให้ความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในระดับเดียวกับในข้อตกลง TRIPS โดยมีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานออกตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทยให้แก่ผู้ผลิตสินค้าซึ่งอยู่ในแหล่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียน ปัจจุบัน สินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยมีจำนวน 122 สินค้า เช่น กาแฟอาราบิกา ข้าวก่ำล้านนา มะขามหวานเพชรบูรณ์ ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ไข่เค็มไชยา เป็นต้น
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ มีลักษณะเหมือนเครื่องหมายรับรองคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า ด้วยเงื่อนไขของการขอรับความคุ้มครองในสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ผู้ขอต้องแสดงความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่และตัวสินค้า ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพ ชื่อเสียง วิธีการผลิต หรือวัตถุดิบที่ใช้ ซึ่งส่งผลถึงคุณภาพเฉพาะของสินค้าจากแหล่งนั้น ผู้ผลิตสินค้าจึงต้องมีการรักษาคุณภาพและพัฒนามาตรฐานสินค้าอย่างสม่ำเสนอ
อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า สินค้าที่จดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทยจะได้ความคุ้มครองเฉพาะในประเทศเท่านั้น ดังนั้น หากผู้ประกอบการต้องการได้รับความคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากประเทศอื่น จำเป็นต้องไปขอจดทะเบียนที่ประเทศนั้น ๆ โดยประเทศไทยได้ขึ้นทะเบียนสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในต่างประเทศแล้ว จำนวน 7 สินค้า ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่สหภาพยุโรป (EU) ผ้าไหมยกดอกลำพูน
ที่อินเดีย และอินโดนีเซีย เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสานที่ประเทศเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่รอการพิจารณาขึ้นทะเบียนในต่างประเทศอีก 9 สินค้า ได้แก่ ญี่ปุ่น 3 สินค้า (กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง สับปะรดห้วยมุ่น) จีน 3 สินค้า (ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง) เวียดนาม 2 สินค้า (มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง) และกัมพูชา
1 สินค้า (กาแฟดอยตุง)
Comments