top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

อียูผ่าทางตันวิกฤตการระงับข้อพิพาทภายใต้ WTO



สหภาพยุโรปร่วมกับสมาชิก WTO รวม 16 ประเทศ[1] ได้ประกาศการจัดทำข้อตกลงหลายฝ่ายเพื่อใช้อนุญาโตตุลาการ ในการพิจารณาอุทธรณ์เป็นการชั่วคราว เพื่อใช้แทนองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body)


ในช่วงที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้คัดค้านการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ 6 ตำแหน่งจากทั้งหมด 7 ตำแหน่ง จึงทำให้ขณะนี้ เหลือสมาชิกองค์กรอุทธรณ์เพียง 1 คน ซึ่งก็ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตัดสินคดีใด ๆ ได้เนื่องจากจะต้องมีสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ครบ 3 คนจึงจะสามารถตัดสินคดีได้


การที่ไม่มีสมาชิกองค์กรอุทธรณ์เพียงพอที่จะตัดสินคดีได้ ส่งผลให้มีคดีที่อุทธรณ์ต่อองค์กรอุทธรณ์แล้ว ไม่ได้รับการพิจารณา หรือหากเป็นข้อพิพาทใหม่ ก็ทำให้คู่พิพาทตระหนักว่า จะมีเพียงคำตัดสินของคณะผู้พิจารณา (Panel) ซึ่งเป็น คำตัดสินชั้นต้นเท่านั้น จึงมีแนวคิดและความพยายามหาทางเลือกอื่น ๆ เพื่อรองรับกรณีที่องค์กรอุทธรณ์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ อาทิ คู่พิพาทตกลงกันให้คำวินิจฉัยของ Panel เป็นที่สุด หรือคู่พิพาทจัดทำข้อตกลงทวิภาคีเพื่อใช้อนุญาโตตุลาการในการพิจารณาอุทธรณ์เป็นการชั่วคราว


เมื่อ 27 มีนาคม 2563 สหภาพยุโรปและสมาชิก WTO บางส่วนได้ร่วมกันเสนอทางเลือกอื่น ๆ โดยการจัดทำข้อตกลงหลายฝ่ายเพื่อใช้อนุญาโตตุลาการ ในการพิจารณาอุทธรณ์เป็นการชั่วคราวตามข้อ 25 ของความเข้าใจว่าด้วยกฎและกระบวนการที่ใช้กับการระงับข้อพิพาท[2] (Multi-Party Interim Appeal Arbitration Arrangement Pursuant to Article 25 of the DSU)


หลักการสำคัญของข้อตกลงหลายฝ่ายฯ ได้แก่ 1) สมาชิกจะไม่ใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อองค์กรอุทธรณ์ แต่จะใช้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้พิจารณาคดีอุทธรณ์เป็นการชั่วคราวในระหว่างที่องค์กรอุทธรณ์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 2) ข้อพิพาทที่จะอยู่ภายใต้หลักการนี้จะเป็นข้อพิพาทในอนาคต 3) ข้อพิพาทจะได้รับการพิจารณาจากอนุญาโตตุลาการ 3 คนซึ่งคัดเลือกจากบัญชีรายชื่ออนุญาโตตุลาการ 10 คน 4) คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเป็นที่สุดและผูกพันคู่พิพาท และ 5) จะมีฝ่ายสนับสนุนจาก WTO ช่วยในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการ


สหภาพยุโรปและสมาชิกที่เข้าร่วมได้ยืนยันว่า การใช้อนุญาโตตุลาการนี้เป็นการดำเนินการชั่วคราว ในระหว่างที่ไม่มีสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ที่จะตัดสินคดีได้ ในขณะเดียวกัน สมาชิกส่วนใหญ่ของ WTO ก็ยังให้ความสำคัญและเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์แทนตำแหน่งที่ว่าง โดยในปัจจุบัน ไทยร่วมกับสมาชิก WTO รวม 120 ประเทศสนับสนุนให้มีการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างโดยเร็ว แต่สหรัฐฯ ก็ยังคัดค้านการแต่งตั้งโดยอ้างว่า ข้อห่วงกังวลของสหรัฐฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานขององค์กรอุทธรณ์ไม่สอดคล้องกับ DSB เช่น การพิจารณาคดีอุทธรณ์เกินกรอบเวลา 90 วัน การพิจารณาคดีอุทธรณ์โดยสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ที่สิ้นสุดวาระไปแล้ว เป็นต้น


เป็นที่แน่ชัดว่า สมาชิก WTO ยังคงผูกพันในหลักการพหุภาคีของการระงับข้อพิพาทภายใต้ WTO ซึ่งต้องมีองค์กรอุทธณ์เป็นผู้ทบทวนคำวินิจฉัยของคณะผู้พิจารณา จึงเป็นระบบการระงับข้อพิพาท 2 ระดับซึ่งเป็นหลักการสำคัญขององค์การการค้าโลก อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ไม่สามารถดำเนินการอุทธรณ์ต่อองค์กรอุทธรณ์ตามแนวทางพหุภาคีได้ ทางเลือกที่สหภาพยุโรปและสมาชิก WTO บางส่วนนำเสนอในรูปของข้อตกลงหลายฝ่าย ก็น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่คู่พิพาทที่เป็นภาคีข้อตกลงหลายฝ่ายสามารถผูกพันและนำไปปฏิบัติระหว่างกันได้ ซึ่งก็ต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า สมาชิก WTO จะให้การสนับสนุนเช่นไร และจะได้รับงบประมาณและการสนับสนุนด้านธุรการในการดำเนินการมากน้อยเพียงใด


ในปัจจุบัน แม้ว่า จะมีทางเลือกให้ใช้วิธีการอื่น ๆ เป็นการชั่วคราวแทนการอุทธรณ์ต่อองค์กรอุทธรณ์แล้วก็ตาม การผลักดันและให้ความสำคัญกับการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ครบถ้วน ก็เป็นความ ท้าทายของสมาชิก WTO ทุกประเทศที่ต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาการระงับข้อพิพาทให้ลุล่วงต่อไป



[1] ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน ชิลี โคลัมเบีย คอสตาริกา สหภาพยุโรป กัวเตมาลา ฮ่องกง เม็กซิโก นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ และอุรุกวัย



กาจฐิติ วิวัธวานนท์

9 เมษายน 2563

169 views
bottom of page