สร้างมาตรฐาน ภายใต้ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า
Technical Barriers to Trade Agreement
ปัจจุบันมีตัวกำหนดกฎเกณฑ์ทางการค้าอย่าง กรอบการค้าเสรี (Free Trade Agreements) ที่เป็นตัวส่งเสริมให้การค้าระหว่างประเทศลดมาตรการกีดกัน หรืออุปสรรคทางภาษีหรือไม่มีการกำหนดภาษีในการนำเข้าระหว่างกัน อย่างไรตาม หลายประเทศยังต้องเผชิญกับมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non – Tariff Measures: NTMs) ที่ประเทศคู่ค้านำมาใช้เพื่อคุ้มครอง การผลิตและการบริโภคในประเทศ โดยใช้มาตรการดังกล่าวเป็นเงื่อนไขของความปลอดภัย คุณภาพสินค้า สิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยปัจจุบันองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) อนุญาตให้ใช้ได้ในกรณีที่เป็นการสร้างและส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมเท่านั้น และใช้เป็นข้อยกเว้นในการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงทางการค้าในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ พืชและสัตว์ ซึ่งต้องไม่เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่เป็นการกีดกันทางการค้าอย่างมีนัยยะแฝง และเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในความตกลง
การเจรจาการค้า GATT รอบโตเกียว ระหว่างปี พ.ศ. 2516-2522 ได้มีการเจรจาเรื่องกฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรฐานที่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ ผลของการเจรจาดังกล่าว ทำให้เกิดประมวลว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (The Code on the Technical Barriers to Trade หรือ The Standards Code) ต่อมาในการเจรจารอบอุรุกวัย ระหว่างปี พ.ศ. 2529-2537 ได้เปลี่ยนจาก The Standards Code มาเป็น ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade Agreement) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษีจากการกำหนดมาตรฐานหรือกฎระเบียบเกี่ยวกับการค้าต่างประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันว่า มาตรการทางเทคนิคที่แต่ละประเทศนำมาใช้จะต้องดำเนินการโดยจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควรเท่านั้น โดยสาระสำคัญของหลักการพื้นฐานในความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ประกอบด้วย 7 หลักการสำคัญ ได้แก่
(1) หลักการไม่เลือกปฏิบัติ (Non-discrimination Principle) : ข้อบังคับทางเทคนิคที่ใช้กับสินค้าที่นำเข้าจะต้องไม่แตกต่างกับข้อบังคับที่ใช้กับสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดหรือถิ่นกำเนิดภายในประเทศ
(2) วัตถุประสงค์อันชอบธรรม (Legitimate Objectives) : การบังคับใช้กฎระเบียบทางเทคนิคหรือการกำหนดมาตรฐาน ต้องเป็นไปเพื่อคุ้มครองสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค และไม่เป็นการกีดกันทางการค้าอย่างไม่เป็นธรรม
(3) หลักการปรับให้สอดคล้อง (Harmonization) : เป็นการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกมีความสอดคล้องกันในเรื่องมาตรฐานระหว่างประเทศและให้ใช้มาตรฐานระหว่างประเทศเป็นพื้นฐานการกำหนดกฎระเบียบและมาตรฐานภายในประเทศ
(4) การใช้มาตรฐานระหว่างประเทศ (Use of International Standards) : ให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรฐานระหว่างประเทศเป็นพื้นฐานในการกำหนดกฎระเบียบทางเทคนิคและมาตรฐานของตน เว้นแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ และความพร้อมด้านเทคโนโลยี
(5) หลักการยอมรับความเท่าเทียมกันและการยอมรับซึ่งกันและกัน (Equivalence and Mutual Recognition) : เป็นการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกเจรจาตกลงยอมรับซึ่งกันและกันในผลของการประเมินความสอดคล้อง (Mutual Recognition Agreements: MRAs) โดยประเทศสมาชิกต้องรับประกันว่าผลการประเมินความสอดคล้องของประเทศสมาชิกอื่นจะได้รับการยอมรับ แม้ว่ากฎระเบียบทางเทคนิคจะแตกต่างไปจากกฎระเบียบของตน
(6) หลักความโปร่งใส (Transparency) : การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบทางเทคนิค รวมถึงการจัดตั้งศูนย์ข้อซักถามแห่งชาติเพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกอื่นสามารถเข้าถึงข้อมูลได้
(7) การปฏิบัติที่พิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment) : การจัดทำและบังคับใช้กฎระเบียบทางเทคนิค มาตรฐาน และกระบวนการประเมินความสอดคล้องนั้น ประเทศสมาชิกที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วต้องคำนึงถึงความจำเป็นด้านการพัฒนา สถานะการเงิน และความสามารถด้านการค้าของประเทศกำลังพัฒนา เพื่อเป็นการประกันว่าจะไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคโดยไม่จำเป็นต่อการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า กำหนดให้ประเทศสมาชิกมีการทบทวนการดำเนินงานและพันธกรณีความตกลงทุก 3 ปี (Triennial Review) เพื่อสร้างความโปร่งใสและแสดงให้เห็นถึงพันธกรณีต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก
ตัวอย่างของมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าของต่างประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา กำหนดมาตรการจํากัดปริมาณการใช้สาร BPA ในภาชนะบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ สหภาพยุโรป กำหนดให้วัสดุสัมผัสอาหารที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยและได้รับการรับรองว่ามีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และการกำหนดให้มีการติดฉลากในสินค้าเกษตรที่มีการปรับแต่งพันธุกรรม และญี่ปุ่น กำหนดให้เข็มขัดนิรภัยในรถทุกคันที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น ต้องได้รับมาตรฐานความปลอดภัยของประเทศ เป็นต้น
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีการกำหนดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าจำนวน 692 มาตรการ (ข้อมูลจากองค์การการค้าโลก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563) อาทิเช่น การกำหนดให้สินค้าอุตสาหกรรมบางชนิดที่จำหน่ายในประเทศไทย ต้องได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เป็นต้น
แม้ว่าการกำหนดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า ทำให้ต้นทุนของผู้ผลิตสินค้าสูงขึ้น เนื่องจากต้องปฏิบัติตามมาตรการของประเทศคู่ค้า แต่หากมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หรือเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว หากมองในแง่ดี มาตรการเหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตเร่งพัฒนาสินค้าของตนให้มีความปลอดภัยมากขึ้น เพื่อให้ได้รับมาตรฐานสากลหรือการยอมรับจากหลายประเทศคู่ค้า ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศคู่ค้ามีความเชื่อมั่นต่อสินค้า กระบวนการผลิต รวมไปถึงเชื่อมั่นในนโยบายรัฐบายภาครัฐต่อการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศด้วย
Comments