top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

รัฐมนตรีการค้า WTO เห็นพ้องเร่งเดินหน้าเจรจา E-commerce ให้สรุปผลได้โดยเร็ว


เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 24 มกราคม 2563 ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส นายสรรเสริญ สมะลาภา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และนางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ได้เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Informal meeting of the WTO Joint Statement Initiative (JSI) on Electronic Commerce) ร่วมกับรัฐมนตรีของสมาชิก WTO ที่สนับสนุนการเจรจาจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) รวม 27 ประเทศ และนายโรเบอร์โต อาเซอเวอโด ผู้อำนวยการใหญ่ WTO


การประชุมครั้งนี้มีสิงคโปร์ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ในฐานะกลุ่มประเทศแกนนำการเจรจาฯ หรือที่เรียกว่า Co-conveners ได้เป็นโต้โผในการจัดประชุมฯ เพื่อตอกย้ำความสำเร็จในการเดินหน้าเจรจาความ ตกลง E-commerce ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ภายหลังจากที่สมาชิก WTO รวมทั้งสิ้น 76 ประเทศ ได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมการเริ่มเจรจาจัดทำความตกลง WTO E-commerce ในการประชุมเมื่อปี 2562


ในการนี้ ที่ประชุมรัฐมนตรีฯ ได้ยินดีต่อความคืบหน้าในการเจรจาดังกล่าว และยืนยันเจตนารมณ์ในระดับนโยบายที่จะสานต่อการเจรจาอย่างโปร่งใสและเปิดเผย เพื่อรักษาโมเมนตัมการเจรจาให้คืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้าให้สมาชิกฯ สามารถจัดทำร่างความตกลงร่วม (consolidated text) เสนอต่อที่ประชุม MC12 ที่ระหว่างวันที่ 8–11 มิถุนายน 2563 ณ กรุงนูร์ – ซุลตัน สาธารณรัฐคาซัคสถาน รวมทั้งต้องการให้เร่งสรุปผลการเจรจาความตกลงฯ ที่มีมาตรฐานสูง ครอบคลุมประเด็นด้านการค้า E-commerce อย่างกว้างขวาง และมีสมาชิก WTO เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ภายในปี 2564 นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังได้ประกาศเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิก WTO ทั้งหมด 83 ประเทศจาก 164 ประเทศที่เข้าร่วมการเจรจาฯ อย่างเป็นทางการแล้ว


ทั้งนี้ ความสำเร็จของการเจรจาความตกลง E-commerce ฉบับนี้ จะถือเป็นการสร้างความแน่นอนทางกฎระเบียบระหว่างประเทศด้าน E-commerce ในยุคการค้าดิจิทัล พร้อมทั้งเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมทางการค้า E-commerce ของไทยให้เอื้อต่อการขยายตลาดของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการ MSMEs ของไทยในการเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานโลกผ่านการจัดทำมาตรฐานของแพลตฟอร์ม E-commerce ที่สามารถเชื่อมโยงระบบกับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ของโลก และเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือของระบบ E-commerce ไทยให้แก่คู่ค้าและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เช่น การยกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมทั้งยังมีนัยยะต่อการฟื้นฟูความเชื่อมั่นของกลไกการเจรจาภายใต้ WTO อีกด้วย


ไวนิกา อานามนารถ

3 กุมภาพันธ์ 2563



300 views0 comments

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page