top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

รายงานการค้าโลกปี 2564 ของ WTO


เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 WTO ได้จัดการสัมมนาออนไลน์เรื่อง Trade Dialogue: An in-depth look at the World Trade Report 2021 เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับรายงานสถานการณ์การค้าโลกประจำปี 2564 (World Trade Report 2021) โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการค้า (Economic Resilience and Trade)


การสัมมนาฯ มีวิทยากรจาก WTO รวม 4 คน ได้แก่ นาย José-Antonio Monteiro นาย Eddy Bekkers นาง Roberta Piermartini และนาย Marc Bacchetta โดยมี Prof. Katheryn N. Russ จาก University of California, Davis เป็นผู้ดำเนินรายการ วิทยากรได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับสาระสำคัญของรายงานการค้าโลกประจำปี 2564 ซึ่งประกอบด้วยเนื้อหาหลัก 3 ส่วน ได้แก่ (1) ความสำคัญของการฟื้นตัวจากสถานการณ์ที่ ยากลำบากทางเศรษฐกิจ (2) บทบาทของการค้าระหว่างประเทศต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และ (3) บทบาท ของความร่วมมือทางเศรษฐกิจในการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ


จากรายงานฯ ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2564 ที่ผ่านมานั้น มีความเสี่ยงและอยู่ในภาวะช็อค (Shock) จากสถานการณ์ต่าง ๆ ได้แก่ ผลกระทบจากสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ โรคระบาดที่จะเพิ่มขึ้นมากในอนาคต ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การจัดการและการโจมตีทางไซเบอร์ และความตึงเครียดทางสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศและความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าวไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์ ซึ่งมีผู้คนหลายล้านคนต้องสูญเสียชีวิตไป แต่ยังกระทบต่อเศรษฐกิจของโลก และการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในส่วนของการนำเข้าส่งออกและต้นทุนทางการค้าด้วย


อย่างไรก็ดี สถานการณ์วิกฤติด้านการเงินของโลก (Global Financial Crisis) และการระบาดของ โรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าที่แตกต่างกัน โดยวิกฤติการณ์ด้านการเงินจะมีผลกระทบต่อการค้าค่อนข้างรุนแรงกว่า โดยแม้ว่าสถานการณ์โรคโควิดจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทานอย่างไม่คาดคิด (Supply and Demand shocks) โดยเฉพาะในช่วง lockdown แต่ยังมีจุดดีที่ว่า ยังคงมีอุปสงค์ต่อสินค้าทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล และมีการเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคจากภาคบริการไปสู่ การบริโภคสินค้ามากขึ้น ซึ่งทำให้ผลกระทบต่อการค้าน้อยกว่าวิกฤติการณ์ด้านการเงินซึ่งมีผลกระทบอย่างมากต่ออุปสงค์ของสินค้าและบริการ


นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว ประเทศต่าง ๆ ได้ออกนโยบายด้าน การค้าทั้งในส่วนของ (1) การออกมาตรการจำกัดด้านการค้า (Trade restrictive measures) เช่น การจำกัดการนำเข้าเพื่อรักษาตลาดภายในประเทศ การจำกัดการส่งออกเพื่อป้องกันการขาดแคลนสินค้าภายในประเทศ และ (2) การออกมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการค้า รวมถึงยังพยายามที่จะออกนโยบายด้านการเงินและการคลังเพื่อลดผลกระทบดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มีการออกนโยบายจำกัดทางการค้า โดยร้อยละ 85 เป็นนโยบายจำกัด การส่งออก เช่น ในกรณีของช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มีการออกนโยบายจำกัดการส่งออกชุด PPE เป็นต้น


รายงานของ WTO ยังกล่าวถึงบทบาทของการค้าทั้งในส่วนของ (1) การเตรียมการสำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิด เช่น การค้าจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มการขยายตัวของการใช้ทรัพยากร (resources) เพื่อเตรียมการต่อการเปลี่ยนแปลง และการอำนวยความสะดวกด้านอุปทาน (2) การจัดการกับ การเปลี่ยนแปลง เช่น การค้าจะมีส่วนสำคัญต่อการส่งสินค้าที่จำเป็น โดยเฉพาะในช่วงการเกิดวิกฤตโรคโควิด-19 และการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญและการพัฒนาสินค้าที่จำเป็น เช่น วัคซีน และ (3) การฟื้นตัวภายหลังการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดคิด เช่น การคงอุปสงค์ของสินค้าส่งออกและนำเข้า และ การพัฒนาการค้า เช่น การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาระบบการค้าแบบดิจิทัล และ การออกกฎหมายเกี่ยวกับการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น นอกจากนี้ การค้าระหว่างประเทศยังมีส่วนช่วย ในการส่งเสริมการเติบโตและการฟื้นตัว ทางเศรษฐกิจ และทำให้หลายประเทศพยายามที่จะกระจาย (Diversify) อุปสงค์และอุปทานพื่อลดความผันผวนของเศรษฐกิจระดับมหภาค (Macroeconomic volatility)


รายงานยังระบุเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศมีส่วนอย่างยิ่งในการลดความเสี่ยงและ ความผันผวนทางเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือภายใต้ WTO ซึ่งที่ผ่านมา WTO ได้มีบทบาทในการจำกัดการออกนโยบายของประเทศสมาชิก ซึ่งจะมีผลในการลดผลกระทบทางอ้อม (Spillovers) ในด้านลบต่อการค้าข้ามพรมแดน และสนับสนุนนโยบายการขยายการค้า การส่งเสริมการกระจายตัวของสินค้าส่งออกและนำเข้า (Import and export diversification) เพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์และอุปทานอย่างไม่คาดคิด (Supply and Demand shocks) โดยเน้นนโยบายการเปิดตลาดการค้า เพิ่มความโปร่งใส และคาดการณ์ได้ การเน้นเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการค้า (Trade facilitation) การส่งเสริม e-commerce โครงการความช่วยเหลือเพื่อการค้า (Aid-for-Trade) และข้อริเริ่มเรื่องการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน รวมถึงการเสริมสร้างการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานของโลก และการเตรียมการรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency preparedness) เช่น การพัฒนาแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government procurement) ด้านการส่งเสริมภาคบริการที่จำเป็น และด้านการเคลื่อนย้ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดต่าง ๆ


นอกจากนี้ WTO ยังสามารถมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19ด้วย เช่น การส่งเสริมให้มีการเข้าถึงสินค้าที่จำเป็น (Access to essential goods) โดยการไม่สนับสนุนการใช้นโยบายจำกัดการส่งออก (Export restrictions) และการจัดทำแนวทางความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยผ่านข้อริเริ่มด้านการค้าและสุขภาพ (Trade and Health Initiative) การส่งเสริมการผลิตวัคซีนและการทำให้ประเทศที่ยากจนสามารถมีวัคซีนได้ โดยให้ความมั่นใจว่า ทรัพย์สินทางปัญญามิใช่อุปสรรคในการผลิตและการใช้ประโยชน์จากวัคซีน ขณะที่ต้องส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนด้านเทคโนโลยีที่จำเป็น และการเปิดตลาดสินค้าที่จำเป็น รวมถึงการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจด้านวัคซีน ยารักษาและการตรวจโรคโควิด-19 เพื่อประเทศกำลังพัฒนา (Task Force on COVID-19 Vaccines, Therapeutics and Diagnostics for Developing Countries) เป็นต้น


สำหรับการส่งเสริมนโยบายด้านการค้าภายหลังภาวะช็อค (Shock) นั้น รายงานระบุว่า WTO สามารถมีบทบาทเพิ่มเติมในด้านการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยการสนับสนุนด้านการเปิดตลาด (Market access) และการกระจายการนำเข้าการส่งออก รวมถึงการส่งเสริมให้มีการจัดทำแนวปฏิบัติทั้งในระดับพหุภาคี ระดับหลายฝ่าย (Plurilateral) และระดับภูมิภาค การช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และ การพัฒนาความสามารถด้านการค้า เป็นต้น

644 views0 comments

Kommentare


bottom of page