top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

สรุปสาระสำคัญการเสวนาหัวข้อ“ยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนไทยในยุคสู่ระเบียบโลกใหม่”



ประเด็นการเสวนา:

  • ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย

  • การเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์โลก อิทธิพลของสหรัฐฯ ต่อโลกตะวันตก ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ และทิศทางความเปลี่ยนแปลงด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

  • ผลกระทบต่อไทย ยุทธศาสตร์ ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและแนวทางการเตรียมความพร้อมและการดำเนินงานของไทย

-------------------------


คุณเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

  • ปัญหาเงินเฟ้อในปัจจุบันเกิดขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศ ตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด ทำให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นสูง ขณะที่การผลิตสินค้าและบริการไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ทัน ประกอบกับภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงานและอาหารเพิ่มสูงขึ้นอีก

ผลกระทบของสงครามรัสเซีย-ยูเครนต่อไทย

  • การส่งออก แม้ว่าไทยมีสัดส่วนการส่งออกรวมไปทั้งสองประเทศไม่มาก แต่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในบางอุตสาหกรรมที่ไทยมีการส่งออกเป็นมูลค่าสูง อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชื้นส่วนพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ถุงมือยาง ยางล้อ อาหารประป๋อง อาหารแปรรูป ผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกล เครื่องสำอาง และสมุนไพร อัญมณีที่เป็นเพชรขนาดเล็ก ทั้งนี้ การผลักดันและเร่งการส่งออกไปรัสเซีย ต้องใช้ประเทศที่สามในการโอน/ชำระเงิน และการส่งสินค้า เช่น อิหร่าน หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ)

  • ขณะนี้ ความต้องการอาหารสัตว์ในตลาดโลกสูงมาก แม้ต้นทุนการผลิตหรือราคาปรับสูงขึ้น คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร (feed stock) ปัจจุบันผู้ประกอบการต้องปรับสูตรการผลิต และหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการหยุดชะงักของการผลิต นอกจากนี้ การที่รัสเซียไม่ส่งออกปุ๋ย ส่งผลกระทบต่อผลิตภาพการเพาะปลูกและความมั่นคงทางอาหารของหลายประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสของประเทศผู้ส่งออกอาหาร เช่น ไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน 3-4 แสนคน ขณะที่มีคำสั่งซื้อจำนวนมาก จึงเห็นว่าควรผ่อนผันการนำเข้าแรงงานต่างด้าว และพยายามเร่งการติดตั้งระบบการผลิตแบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

  • ผลกระทบต่อราคาพลังงาน ขณะนี้ราคาน้ำมันดีเซลถูกปล่อยลอยตัวแล้ว ซึ่งแม้จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไม่มาก (ประมาณ 1-2%) แต่อาจถูกผลักภาระไปยังผู้บริโภคและสะท้อนในราคาขายที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5-10% ขณะนี้ สินค้าควบคุมยังมีราคาทรงตัว

  • ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัว โดยขณะนี้อาจยังมีสินค้าคงคลังเพียงพอสำหรับ 3-6 เดือน แต่สต๊อกสินค้าเริ่มลดลงแล้วในบางอุตสาหกรรม ทั้งยังถูกซ้ำเติมโดยอุปสงค์เทียมเพื่อการกักตุนสินค้า ส่งผลให้อาจมีการปรับราคาสินค้าล้อตใหม่ ในขณะที่ผู้บริโภคมีรายได้เท่าเดิม กำลังซื้อลดลง ทำให้แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมในประเทศยังไม่ดีนัก แต่อุตสาหกรรมส่งออกมีโอกาสขยายตัวดี

  • นอกจากนี้ ไทยอาจใช้โอกาสนี้ซื้อสินค้าราคาถูกจากรัสเซีย อาทิ น้ำมัน ข้าวสาลี เหล็ก สินค้าประมง ซึ่งรัสเซียยังถือว่าเป็นมิตรที่ดีต่อไทยอยู่ และไทยยังสามารถไปลงทุนด้านการเกษตรในรัสเซีย โดยเฉพาะในแคว้นคัมชัตคา (Kamchatka) ที่มีที่ดินมากมายสำหรับการทำเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมป่าไม้ ซึ่งหากทำได้ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงได้ถึง 30% และลดปัญหาเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการผลักดันนโยบายของภาครัฐ

  • ในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงในด้านการค้าและการลงทุนนั้น ภาคเอกชน สภาธุรกิจไทย-รัสเซีย มองว่าท่ามกลางความเสี่ยงด้านภาวะเงินเฟ้อและราคาพลังงาน ไทยอาจได้ประโยชน์จากการซื้อพลังงานราคาต่ำรัสเซียเพื่อลดต้นทุน จากการที่สหภาพยุโรปยกเลิกการซื้อน้ำมันและพลังงานจากรัสเซีย รวมถึงสินค้าอื่นๆ อาทิ ข้าวสาลี เหล็ก ปุ๋ย สินค้าประมงและผลิตภัณฑ์ไม้ ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงปัจจัยระหว่างประเทศอื่นๆ ประกอบด้วย นอกจากนี้ เห็นว่านโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของสหรัฐฯ พุ่งเป้าที่จีน ซึ่งมีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัสเซียเป็นหลัก

  • ยุทธศาสตร์และนโยบายของสภาอุตสาหกรรม แบ่งภาคอุตสาหกรรมออกเป็น 2 ส่วนคือ (1) อุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industry) 45 กลุ่มอุตสาหกรรม/11 คลัสเตอร์ ที่มีศักยภาพในการแข่งขัน มุ่งเน้นเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขัน ยกระดับการใช้นวัตกรรมและสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ได้ให้อยู่รอดและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน และ (2) อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทคมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve อาทิ ดิจิทัล รถยนต์ไฟฟ้า โรโบติกส์และระบบอัตโนมัติ ธุรกิจ Wellness และโลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ BCG (Bio-Circular-Green Economy) โดยสามารถเพิ่มมูลค่าต่อยอดการผลิตจากภาคเกษตร และเน้นการขับเคลื่อนด้วยตลาด (Demand Driven) อาทิ อุตสาหกรรมยา อาหารเสริมและเครื่องสำอาง และพลังงานชีวภาพ (Biofuel) โดยสภาอุตสาหกรรมได้จัดทำโครงการ “หนึ่งจังหวัด หนึ่งอุตสาหกรรม” และ “Smart Agriculture Industry (SAI)” ร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อกำหนดการผลิตตามความต้องการตลาดซึ่งขณะนี้มีโครงการนำร่องที่กรุงเทพฯ ภายใต้ชื่อว่า “SAI in the City” ในธีม Plant-based food ที่ผลิตและแปรรูปพืชเพื่อทดแทนการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างเป็นระบบและครบวงจร (Zero waste และใช้พลังงานสะอาด) โดยคาดว่าจะจัด Showcase ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการพัฒนาอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์มาตรฐานด้านการเปลี่ยนแปลงทางด้านภูมิอากาศมากขึ้น รวมถึงการสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทานในแต่ละอุตสาหกรรมเพื่อพึ่งพาตัวเองให้มากขึ้นอีกด้วย


คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

  • การลงทุน FDI ของโลกเริ่มประสบปัญหามาก่อนสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว ตั้งแต่สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน และการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยทำให้การวางแผนการลงทุนทำได้ยากขึ้น ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยในการกำหนดเป้าหมายการลงทุนเพิ่มเติมขึ้นมา คือ

    • สงครามการค้า ทำให้มีการย้ายฐานมาลงทุนที่ไทยเพิ่มขึ้น 280 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 1.3 แสนล้านบาท โดยต้องมีการเปลี่ยนแปลงพิกัดศุลกากร (HS 4 หลัก) ถึงให้ใบอนุญาต เพื่อไม่มีการสวมสิทธิ์

    • ความยืดหยุ่นของห่วงโซ่การผลิต ไทยมีการบริหารจัดการเรื่องห่วงโซ่การผลิตในช่วงโควิดได้ดีมาก ผู้ผลิตสามารถทำการผลิตต่อเนื่องได้ ไม่หยุดชะงัก

    • การขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้หลายประเทศกำหนดสินค้ายุทธศาสตร์ ที่พยายามโน้มน้าวไม่ให้นักลงทุนไปผลิตในต่างประเทศ อาทิ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ หรือแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ยา และวัคซีน สำหรับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ปัจจุบันนี้สามารถผลิตได้เพียง 10% ของความต้องการในอีก 10 ข้างหน้า

    • ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้การเลือกประเทศปลายทางในการลงทุนมีความละเอียดอ่อนมากขึ้น โดยมีปัจจัย Geopolitics ประกอบด้วย ดังนั้น ห่วงโซการผลิตเพื่อรองรับตลาดอเมริกาและจีนอาจต้องผลิตคนละประเทศกัน

    • พลังงานทดแทน บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทมีนโยบายในการใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วนสูงขึ้น หรือในสัดส่วน 100% เช่น Data Center ต้องเป็นพลังงานทดแทน 100% บางรายจำเป็นต้องรู้แหล่งผลิตพลังงานทดแทน บางรายต้องใช้พลังงานทดแทนที่มาจากแหล่งผลิตใหม่เท่านั้น ในการนี้ ไทยและอาเซียนมีศักยภาพในการผลิตพลังงานทดแทนสูง มีแหล่งพลังงานที่หลากหลาย สามารถดึงดูดการลงทุนได้ดี

  • 10 ปัจจัยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนของไทยในระยะยาว ปัจจัยภายนอก ได้แก่ แนวโน้มการไหลกลับของกระแสโลกาภิวัฒน์ การลดการปล่อยคาร์บอน การปฏิวัติทางเทคโนโลยี ความยืดหยุ่นในห่วงโซ่การผลิต และนโยบาย OECD Tax reform ซึ่งอาจมีการเลื่อนการบังคับใช้ global minimum tax ที่ 15% โดยหากประเทศไหนเก็บภาษีต่ำกว่า 15% ประเทศแม่ของบริษัทข้ามชาติสามารถเก็บภาษีเพิ่มเติมให้ถึง 15% ได้ ทำให้มีแรงจูงใจในการใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่ไม่ใช่ภาษีมากขึ้น สำหรับปัจจัยภายในของไทยเอง ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำ สังคมผู้สูงอายุ ทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

  • สิ่งที่ไทยต้องทำอย่างเข้มข้นจากนี้ไป คือ การยกระดับห่วงโซ่การผลิต การส่งเสริม Talent Pool ต้องนำเข้าแรงงานทักษะต่างชาติ การส่งเสริมการผลิตสีเขียว ลดความเหลื่อมล้ำและการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก

  • ความท้าทายของการยกระดับอุตสาหกรรมไทยคือการยกระดับอุตสาหกรรมเดิม เช่น ภาคการเกษตร (Smart farming, Alternative protein) การท่องเที่ยว (กลุ่มเล็กลงแต่มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น long term residence) ยานยนต์ไฟฟ้า​ (EV) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (พยายามส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ มากขึ้น) และยกระดับให้ไทยเป็น Regional Headquarter ด้านการวิจัยและพัฒนา

  • นโยบายการส่งเสริมการลงทุนของ BOI อาจจำแนกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ 1) การส่งเสริมการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันและสร้างอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และ 2) การลดความเหลื่อมล้ำและส่งเสริมการลงทุนให้กระจายไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง โดยนัยหนึ่งคือการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมาช่วยเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องการผลักดัน และอีกนัยหนึ่งคือการส่งเสริมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการไทยให้เข้ามามีส่วนร่วมและสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ด้วยตนเองทั้งในระยะสั้นและยาว และพร้อมทำงานร่วมกันกับสภาอุตสาหกรรมไทยอย่างเข้มข้นเพื่อส่งเสริมการลงทุนและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย

ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • Global Value Chain (GVC) กำลังการเปลี่ยนฉับพลัน (Disruption) และกำลังฟื้นอย่างช้า ๆ โดยผู้เล่นหลักอย่างสหรัฐอเมริกา (15.9% ของ GDP PPP โลก) กำลังสูญเสียบทบาทไปให้จีน ที่ขณะนี้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกาแล้ว (จีนมีสัดส่วน 18.7% ของ GDP PPP) และมีระบบเศรษฐกิจที่ไม่ใช่กระแสหลัก นั่นคือไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย จึงก่อให้เกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และทำให้สหรัฐอเมริการ่วมมือกับยุโรปที่มีสัดส่วน 15.2% ของ GDP PPP โลก รวมถึง ญี่ปุ่น ที่ยังเป็นนักลงทุนหลักและประเทศภูมิภาคเอเชียใต้ (สัดส่วน 9% ของโลก) และไทย ซึ่งหากรวมกับอาเซียนแล้วจะมีขนาดเศรษฐกิจประมาณ 7% ของโลก

  • บทบาทของจีนจะเปลี่ยนไป จีนมีความฝันที่จะฟื้นฟูพลังชีวิตให้กับประเทศ ภายในปี 2049 (Chinese dream of national rejuvenation) เป็นจีนที่ศิวิไลซ์ (Civilized China) มุ่งเสริมสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน (Common prosperity) ลดบทบาทรายใหญ่ เพิ่มบทบาทรายย่อยเน้นจริยธรรม ยกบทบาทของจีนว่ามีจริยธรรม จีนที่เป็นหนึ่งเดียว (ลดความเหลื่อมล้ำ) และเน้นเศรษฐกิจสีเขียว

  • มูลค่าการค้าระหว่างประเทศตะวันตกกับจีนมีแนวโน้มลดลง แต่ไม่สามารถแยกจากกันได้ เพราะฉะนั้น ทั้งสองฝ่ายจึงต่างหาความเชื่อมโยงผ่านประเทศที่สาม (Spring Board) ซึ่งอาจเป็นโอกาสของไทย แต่เวียดนาม และอินโดนีเซีย เป็นคู่แข่ง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกามียุทธศาสตร์หันมาเอเชียผ่านยุทธศาสตร์ อินโดแปซิฟิก

  • ยุทธศาสตร์ชาติของสหรัฐอเมริกา 4 ด้าน (ปี 2017)

1.1.ความมั่นคง โดยมีประเด็นสำคัญคือ เกาหลีเหนือ จีฮัด ไซเบอร์แอทแทค (จีน และรัสเซีย)

1.2.เศรษฐกิจ พัฒนาเศรษฐกิจให้ยิ่งใหญ่ทิ้งห่างจีน และปิดล้อมจีนด้วยการทำข้อตกลงทางการค้า (Indo Pacific Economic Framework, IPEF)

1.3.สังคม ต้องรักษาค่านิยมตะวันตกไว้

1.4.รักษาความเป็นเจ้าของสหรัฐฯ (America as world hegemon)

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์หลายด้านของสหรัฐฯ ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอินโดแปซิฟิกแทบทั้งสิ้น เช่น ยุทธศาตร์ทหาร US pacific command เป็น US Indo-pacific command และมีการจับกลุ่มระหว่างประเทศเพื่อปิดล้อมจีน เช่น กลุ่ม QUAD (สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย และญี่ปุ่น) และกลุ่ม AUKUS (ออสเตรเลีย สหราชขอาณาจักร และสหรัฐฯ)

  • ยุทธศาสตร์ Indo-Pacific ของสหรัฐฯ วางอยู่บนหลักการ 5 หัวข้อ ได้แก่ 1) Free and open 2) Connected ด้วยข้อริเริ่ม Build Back Better World เพื่อแข่งกับ the Belt and Road Initiative ของจีน 3) Prosperity ด้วยการเจรจาการค้า 4) Security และ 5) Resiliency ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์นี้ไม่ใช่ FTA ไม่มีการลดภาษี ไม่มีการเปิดตลาด การเจรจาจะคล้าย NAFTA คือจะพยายามให้ประเทศในภูมิภาครายประเทศ สนับสนุนสหรัฐฯ และใช้เป็นข้อต่อรองประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เพื่อบรรลุเป้าหมายของสหรัฐฯ ได้แก่ 1) Fair and Resilient Tradeมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม ดิจิทัล และทรัพย์สินทางปัญญา 2) Supply Chain Resiliency โดยอาจมีข้อจำกัดการทำการค้าในสินค้าบางอย่างกับจีน ซึ่งไทยอาจจะได้ประโยชน์ด้านโครงสร้างพื้นฐานจากโครงการ "Build Back Better World" ที่กลุ่มประเทศ G7 มีเป้าหมายสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนา

  • นโยบายเศรษฐกิจตามเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จะมีความมั่นคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อน และต้องพิจารณาร่วมกับปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และภูมิเศรษฐศาสตร์(Geoeconomics) เพื่อวางนโยบายและภูมิยุทธศาสตร์ (Geostrategy) ซึ่งขณะนี้เรากำลังเห็นการแบ่งเศรษฐกิจโลกออกเป็น 2 ขั้ว” (The Great Decoupling) และมีความเป็นไปได้ว่ายุโรปอาจแตกออกเป็นขั้วที่ 3 ในอนาคต และจะเกิดปรากฏการณ์ Friend Shoring Investment หรือ Ally Shoring ทั้งนี้ สำหรับไทยที่ตั้งสถานะเป็นกลาง แต่อาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกข้างในท้ายที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ที่หลากหลายในการวางนโยบายและพิจารณาผลกระทบ

ดร. ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

  • ผลกระทบที่สำคัญต่อไทยจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน คือเงินเฟ้อ โดย ธปท มองว่าอัตราเงินเฟ้อปี 2565 อยู่ที่ 4.9% โดย ธปท. ใช้ความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ และคาดว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวที่ประมาณ 3% หรือสูงกว่า เพราะในช่วงสองปีที่ผ่านมาฐานการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำมากทั้งนี้ เห็นว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจ เพราะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจากเกิดจากต้นทุนไม่ได้เกิดจากความต้องการ

  • ความท้าทายที่สำคัญคือไทยจะสามารถคงอัตราดอกเบี้ยไว้นานเพียงใด ขณะที่หลายประเทศเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในปี 2566 จะมีค่ามากกว่า 3% ทั้งนี้ แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของจีนและญี่ปุ่น ก็กำลังทวนกระแสด้วยเช่นกัน เนื่องจากจีนกำลังประสบปัญหาการจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ญี่ปุ่นเน้นการดูแลเศรษฐกิจที่อ่อนแอเป็นหลัก

  • ความกดดันเรื่องเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากสหรัฐฯ อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบค่อนข้างมาก ทำให้เศรษฐกิจร้อนแรงและอัตราเงินเฟ้อทะยานสูงขึ้น ประกอบกับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้อัตราเงินเฟ้อน่าอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากระดับก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งออกอาหารเพิ่มขึ้น

  • จากสถานการณ์ข้างต้น อาจส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่จะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อจำกัด โดยค่าเงินบาทอ่อนค่า 1% จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.04% ทั้งนี้ ในปี 2565 ธปท. อาจจะยังสามารถตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ไว้ได้ การปล่อยอัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไปเป็นเวลานาน อาจทำให้ ธปท ไม่มีเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต ขณะที่ ประเมินว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ไปอยู่ที่ระดับ 2.5% ซึ่งจะทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ มีไม่มากนัก

  • ปี 2565 จะเป็นปีที่ยากลำบากของไทย เพราะไทยมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และธนาคารแห่งประเทศ การดูแลเงินเฟ้อของภาครัฐต้องมี การบริหารจัดการราคาให้ปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและเหมาะสม พร้อมดูแลทุกภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ และชื่นชมภาคเอกชนที่ได้ช่วยทำให้ไทยผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาหลายครั้ง โดยในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยมีการดำเนินนโยบายและดูแลอัตราดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ เริ่มเห็นสัญญาณดีจากภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มจำนวนนักท่องเที่ยวขาเข้าในท่าอากาศยาน สุวรรณภูมิมากขึ้น รวมถึงอัตราการสำรองห้องพักในเดือนพฤษภาคม 2565 ภายหลังการยกเลิกมาตรการ Test and Go และคาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นอีกหลังจากการยกเลิก Thailand Pass ในเดือนมิถุนายน 2565


ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ ไทยต้องมองในระยะยาวและอย่าประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไป โดยประเทศตะวันตกอาจยังไม่สามารถยกเลิกการคว่ำบาตรได้ จึงไม่สามารถประเมินผลกระทบของ การคว่ำบาตรนี้ต่อเศรษฐกิจโลกได้อย่างชัดเจน หากมาตรการคว่ำบาตรยังคงอยู่ในระยะ 6 – 12 เดือน จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและมีแนวโน้มส่งผลกระทบสินค้าบางประเภทขาดแคลน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ เนื่องจากยูเครนเป็นแหล่งผลิตนีออนซึ่งเป็นแร่องค์ประกอบสำคัญของการผลิต และสินค้ากลุ่มอาหาร แม้ขณะนี้ยังมีวัตถุดิบในคลังสินค้าอยู่ แต่หากสงครามยืดเยื้อ จะก่อให้เกิดวิกฤตอาหารและวิกฤตผู้ลี้ภัยตามมา ส่วนไทยจะได้รับผลกระทบสำคัญในเรื่องเงินเฟ้อ จึงควรเตรียมการรับมือในทุกกรณีที่เป็นไปได้หากสถานการณ์ยืดเยื้อ

  • เศรษฐกิจจีนตอนนี้มีแนวโน้มแย่ลง และเป็นวิกฤติความเชื่อมั่นที่ส่งผลกระทบในรอบ 5 ปี จากวิกฤติอสังหาริมทรัพย์เมื่อปลายปี 2564 การจัดการด้านเทคโนโลยีที่กระทบความมั่นใจภาคเอกชน เงินทุนไหลออกจากจีนเนื่องจากกังวลผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม หากพบว่ามีการพัวพันกับรัสเซีย และนโยบาย Zero Covid ที่ยังเข้มงวดอยู่เนื่องจากจีนมีความเสี่ยงที่จะมีผู้เสียชีวิตจากโควิดสูงกว่าสหรัฐมาก และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่าวัคซีนโควิดของจีนมีประสิทธิภาพน้อยกว่าวัคซีนทางตะวันตก โดยเฉพาะการป้องกันเชื้อโอไมครอน

  • นโยบายของสหรัฐฯ ต่อจีน สหรัฐฯ มีแผนแถลงยุทธศาสตร์ต่อจีน (วันที่ 26 พฤษภาคม 2565) โดยอาจกล่าวถึงบริหารนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียและจีน ในคราวเวลาเดียวกัน เสมือนว่าจีนและรัสเซียนั้นเป็นพวกเดียวกัน

  • สงครามเทคโนโลยี (Tech war) สหรัฐฯ เตรียมออกมาตรการยกระดับการคว่ำบาตรโดยบริษัท Hikvision ของจีน ซึ่งเป็นผู้นำในสินค้าระบบรักษาความปลอดภัยและกล้องวงจรปิดที่ใหญ่ที่สุดของจีนอาจถูกระบุอยู่ในรายชื่อ SDN List (The Specially Designated Nationals and Blocked Persons List) ที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ และนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ การใช้มาตรการข้างต้นถือเป็นการยกระดับ Tech War ที่มีนัยยะและส่งผลกระทบทางลบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริษัทดังกล่าว และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับ Tech War และเร่งการแยกตัวห่วงโซ่การผลิต (Decouple) ระหว่างสหรัฐฯ และจีนให้เร็วขึ้น

  • ระเบียบการค้าโลกใหม่ สหรัฐมีนโยบาย Friend Shoring และอาจลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนซึ่งต้องติดตามแนวโน้มและผลกระทบต่อไทย ทางการสหรัฐฯ ทั้งธนาคารกลางและผู้แทนการค้าสหรัฐส่งสัญญาณการลดภาษีนำเข้าเพื่อลดแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสงครามการค้าจะผ่อนคลายลง โดยอาจเข้มงวดมาตรการต่อจีนในด้านอื่นๆ อาทิ มาตรการคว่ำบาตรสินค้าเทคโนโลยี มาตรการตอบโต้การอุดหนุนอุตสาหกรรมภายใต้มาตรา 301 ซึ่งการดำเนินนโยบายของสหรัฐฯ เน้นย้ำการแยกตัวห่วงโซ่การผลิตที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และเป็นโจทย์สำคัญต่อไทยว่าไทยเหมาะสมกับห่วงโซ่ไหนในแต่ละอุตสาหกรรม หรือไทยสามารถอยู่ได้ทั้ง 2 ห่วงโซ่ ทั้งนี้ จำเป็นต้องพิจารณาการเข้าร่วมเป็นรายอุตสาหกรรมไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัว

  • การพัฒนาอุตสาหกรรม ในทุกอุตสาหกรรมจะมีส่วนที่เป็น Sunset และ Sunrise อยู่ด้วยเสมอ และมีโอกาสยกระดับเทคโนโลยีในทุกภาคอุตสาหกรรม ไทยควรมองหาโอกาสที่ซ่อนอยู่โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมดั้งเดิม โดยสามารถส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีได้ผ่านการดึงดูดการลงทุน หรือการสร้างพันธมิตรจากประเทศที่สามเพื่อสนับสนุนการพัฒนาร่วมกัน


ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC)

  • คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายจาก (1) สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งกระทบต่ออุปทานและห่วงโซ่การผลิต และทำให้เศรษฐกิจโลกขาดแคลนวัตถุดิบฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (2) อัตราเงินเฟ้อ ที่เริ่มสูงขึ้นทำให้รายได้ที่แท้จริงลดลง กดดันต่ออุปสงค์และภาพรวมเศษฐกิจ และ (3) แนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย โดยทั้งสามปัจจัยจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ในระยะยาว การแยกตัวห่วงโซ่การผลิต (Decoupling) จะเกิดขึ้นอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ และอาจอยู่ในรูปแบบของห่วงโซ่ อุปทานภูมิภาค (Regional Supply Chain) โดยมีปัจจัยเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นตัวผลักกันการเข้าร่วมห่วงโซ่มากกว่าปัจจัยด้านต้นทุนอย่างที่เป็นมาในอดีต

  • ในส่วนของประเทศไทย ที่มีการพัฒนาถูกขับเคลื่อนด้วยนโยบายการลงทุนของต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้น การเมืองระหว่างประเทศหรือภูมิรัฐศาสตร์ในปัจจุบันจะเป็นโจทย์สำคัญประกอบการดำเนินนโยบายการค้าและการลงทุนที่สำคัญ เพื่อให้ไทยยังสามารถมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานสินค้าสำคัญได้อยู่


ออท.พิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์

  • เศรษฐกิจไทยควรมีตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่หลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะสาขาใดสาขาหนึ่ง โดยในแต่ละสาขานั้นอาจมีจุดยืน/พันธมิตรที่แตกต่างกันได้ เพื่อกระจายความเสี่ยง สำหรับการพัฒนาประเทศในระยะยาวนั้น การกำหนดทิศทางนโยบายและต้องชัดเจน เช่นเดียวกันกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

  • ในระยะสั้น ไทยจำเป็นต้องจัดการกับความท้าทายเรื่องเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิต ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ทาง การค้าการลงทุนต้องมองทั้งระยะสั้นและระยะยาว การสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนอาจต้องพิจารณาควบคู่ทั้งสอง (การส่งออก-นำเข้า และการดึงดูดการลงทุนเข้ามาในไทยและการส่งเสริมธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศ)


อ.ชโยดม สรรพศรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • ในระยะสั้น เศรษฐกิจภายในประเทศได้รับแรงกดดันจากราคาพลังงานและอาหารที่แพงขึ้น ค่าแรงมีแนวโน้มปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยถูกกดดันจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นในต่างประเทศ ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่า นอกจากนี้ สงครามที่มีแนวโน้มยืดเยื้อยิ่งกระตุ้นให้แต่ละประเทศ รวมถึงไทยต้องมีพื้นฐานและการจัดการเศรษฐกิจภายในประเทศที่เข้มแข็งด้วย ก่อนมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในระยะยาว


ช่วงถาม-ตอบ

คำถาม: ประเทศไทยจะต้องทำอย่างไรเพื่อเชื่อมโลกสองขั้วเข้าด้วยกัน รวมถึงการจัดการ ASEAN-China Logistics Hub การทำ Dual Circulation ของจีน และผู้ประกอบการควรมีแนวทางในการมีส่วนร่วมอย่างไร

คำตอบ:

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร– Political Will และจังหวะเวลาช่วยให้แต่ละประเทศตักตวงโอกาสที่เข้ามาได้อย่างทันท่วงที ในเรื่องของท่าทีไทยและการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานนั้นไม่มีคำตอบหรือรูปแบบที่ตายตัว จำเป็นต้องพิจารณาเป็นรายอุตสาหกรรม/รายธุรกิจ การวิเคราะห์ลักษณะห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมโดยละเอียดทั้งมิติของเศรษฐกิจ ความมั่นคงและอื่นๆ จะเป็นข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจ และมองหาโอกาสในการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานอื่นๆ เพิ่มเติมจากสหรัฐฯ และจีน ด้วยการดึงดูดการลงทุนจากประเทศขนาดกลาง

คุณนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ - ในปัจจุบัน การลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทยมีความหลากหลายมากขึ้น โดยส่วนใหญ่มาจากแถบเอเชียกว่า 80% (จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และอินเดีย) ทั้งนี้ การลงทุน จากสหรัฐฯ สหภาพยุโรปก็ยังมีความสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี และรัสเซียเริ่มมาการลงทุนในไทย มากขึ้น และการเข้ามาทำงานของบุคลากรโดยเฉพาะสาขาดิจิทัล นอกจากนี้ ไทยเริ่มบุกตลาดการลงทุนจากประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย อาทิ ซาอุดีอาระเบีย และอิสราเอล

ดร. ปิติ ศรีแสงนาม - เอเชียใต้ (อินเดีย และศรีลังกา) รวมถึงลาว เนปาลและบังกลาเทศ ที่มีการพัฒนาประเทศพ้นจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุดแล้วเมื่อปี 2021 เป็นทางเลือกที่สามที่น่าสนใจเพื่อขยายโอกาสของไทย ซึ่งอินเดีย นับเป็นตลาดขนาดใหญ่ ระยะทางไม่ไกลจากไทยมากนักและมีกำลังซื้อสูง

--------------------------------------

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก

และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

พฤษภาคม 2565


280 views0 comments

Comentarios


bottom of page