สินค้าประมงเป็นทั้งแหล่งทรัพยากรอาหารของโลก และเป็นสินค้าที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ความต้องการด้านอาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมากทุกวัน ประกอบกับขาดการควบคุมในบางพื้นที่ ทำให้เกิดการทำประมงที่เกินกำลังผลิตของสัตว์น้ำ (Overfished) และประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด (Overcapacity and Overfishing) ส่งผลให้ทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลถูกทำลายและมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว
ปฏิญญารัฐมนตรีโดฮา (Doha Ministerial Declaration, 2001) และปฏิญญารัฐมนตรีฮ่องกง (Hong Kong Ministerial Declaration, 2005) กำหนดให้การเจรจารอบโดฮา ครอบคลุมการเจรจาจัดทำกฎระเบียบการอุดหนุนประมง (Fisheries Subsidies) เพื่อสร้างกฎกติกาว่าการอุดหนุนประมงประเภทใดที่ประเทศสมาชิก WTO สามารถดำเนินการได้หรือไม่ได้ เป็นกฎที่มีสภาพบังคับชัดเจน แต่ยังคงมีความยืดหยุ่นให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) กฎระเบียบนี้ มีเป้าหมายหลักในการห้ามให้การอุดหนุนที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเล ส่งเสริมการทำประมงแบบยั่งยืน รักษาความมั่นคงด้านอาหาร (Food Security) และยกระดับชีวิตประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั่วโลก นอกจากนี้ กฎระเบียบการอุดหนุนประมงที่ WTO กำลังจัดทำขึ้นยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อ 14.6 ที่มีเป้าหมายห้ามอุดหนุนประมงที่นำไปสู่การทำประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด การประมงที่นำไปสู่การประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing : IUU) ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่างอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด
จากข้อมูล UN Food and Agriculture Organization ปัจจุบันมีการจับสัตว์น้ำเกินกำลังผลิตและทรัพยากรตกอยู่ในสภาวะ Overfished กว่าร้อยละ 34[1] ส่งผลให้จำนวนสัตว์น้ำทั่วโลกมีความเสี่ยงที่จะล่มสลาย เนื่องจากมีสัตว์น้ำเกิดใหม่ทดแทนไม่ทันจำนวนที่ถูกจับ ซึ่งหากไม่เร่งแก้ปัญหา ความเป็นอยู่ของชาวประมงกว่า 39 ล้านคน[2] ก็ต้องได้รับผลกระทบ เนื่องจากจะไม่เหลือปลาในทะเลให้จับอีกต่อไป ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ทุกประเทศจะต้องพยายามให้การจัดทำกฎระเบียบการอุดหนุนประมงประสบความสำเร็จให้ได้
ดร. เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา (Ngozi Okonjo-Iweala) ผู้อำนวยการ WTO คนปัจจุบันที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2021 เล็งเห็นถึงความสำคัญของประเด็นปัญหาที่เกิดจากการอุดหนุนประมงที่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ ได้เข้าพบประธานการเจรจาการเจรจาจัดทำกฎระเบียบการอุดหนุนประมง (นายซานติอาโก วิล (Santiago Wills) เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรของประเทศโคลอมเบียประจำ WTO) รวมถึงองค์กร NGOs ต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจว่า WTO จะให้ความสำคัญกับการเจรจาดังกล่าว โดยดร. เอ็นโกซีระบุว่า “ถึงเวลาแล้วที่ประเทศสมาชิกต้องหาข้อตกลงร่วมกันเพื่อร่วมจัดทำความตกลงเพื่อกำหนดกฎระเบียบในการทำประมงเพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเล”[3]
จากการประชุมล่าสุดระหว่างวันที่ 15 – 19 มีนาคม 2021[4] สมาชิก WTO ได้หารือเกี่ยวกับกฎระเบียบการห้ามอุดหนุนที่ส่งเสริมการทำประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด การเปิดโอกาสให้ภาครัฐสามารถให้ความช่วยเหลือประมงพื้นบ้านหรือประมงขนาดเล็ก รวมถึงการส่งเสริมความโปร่งใสของโครงการอุดหนุนประมง ทั้งนี้กำหนดการประชุมเพื่อเจรจาจัดทำความตกลงอุดหนุนประมงครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนเมษายน[5]
Reference
[1] https://www.wto.org/english/tratop_e/rulesneg_e/fish_e/fish_intro_e.htm
[2] https://www.wto.org/english/tratop_e/rulesneg_e/fish_e/fish_intro_e.htm
[3] https://www.wto.org/english/news_e/news21_e/fish_01mar21_e.htm
[4] https://www.wto.org/english/news_e/news21_e/fish_19mar21_e.htm
[5] https://www.wto.org/english/news_e/news21_e/fish_19mar21_e.htm
Comments