top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี ๒๕๖๖ ไทยอยู่อันดับที่ ๔๓


Image credit : WIPO


เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๖ องค์การทรัพย์สินทางปัญญา (World Intellectual Property Organization: WIPO) ได้เปิดตัวรายงานผลดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี ๒๕๖๖ หรือ Global Innovation Index (GII) 2023 เพื่อจัดลำดับความสามารถทางด้านนวัตกรรมของ ๑๓๒ ประเทศ โดยมีหัวข้อหลัก (Theme) คือ “Innovation in the Face of Uncertainty” และได้มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๖ ทางเว็บไซต์ของ WIPO

รายงาน GII 2023 ได้จัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับแนวโน้มด้านนวัตกรรมของโลกโดยพิจารณาจากบริบทของความไม่แน่นอน (Uncertainty) ซึ่งเกิดจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ล่าช้าภายหลังการระบาดของโรคโควิด-๑๙ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สูง และสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงบริบทของการขยายตัวของนวัตกรรมที่เกี่ยวกับยุคดิจิทัล วิทยาศาสตร์เชิงลึก (Deep Science) และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี


แนวโน้มที่สำคัญด้านนวัตกรรมที่สำคัญ ได้แก่ (๑) แนวโน้มการลงทุนด้านนวัตกรรมในปี ๒๕๖๕ แยกเป็นการลงทุนเพื่อการตีพิมพ์ผลงาน (Publication) ทางวิทยาศาสตร์ การวิจัยและพัฒนา (R&D) การลงทุนร่วม (Venture Capital: VC) และการจดสิทธิบัตร ซึ่งพบว่า ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้น แต่น้อยกว่าในช่วงปี ๒๕๖๔ ขณะที่มูลค่าการลงทุนของ VC มีแนวโน้มลดลงกว่าร้อยละ ๔๐ และการจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศไม่มีการขยายตัว (๒) แนวโน้มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological Progress) ในสาขาเทคโนโลยี สารสนเทศ สุขภาพ และพลังงาน มีการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะ การพัฒนา Supercomputers และการลดลงของต้นทุนของการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย Genome Sequencing เทคโนโลยีด้านพลังงานที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ และการผลิตแบตเตอรี่ (๓) แนวโน้มการนำเทคโนโลยีมาใช้ (Technology Adoption) มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านสุขอนามัยที่ปลอดภัย (Safe Sanitation) ด้านความเชื่อมโยง (Connectivity) (เช่น Broadband และ 5G) หุ่นยนต์ และยานยนต์ไฟฟ้า และ (๔) ระดับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของนวัตกรรมยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่สอง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผลกระทบระยะสั้นของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙


ในส่วนของการจัดอันดับดัชนี GII 2023 นั้น สวิตเซอร์แลนด์ยังคงได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศผู้นำด้านนวัตกรรมของโลก (อันดับที่ ๑) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา ๑๓ ปี โดยมีคะแนนรวมทั้งหมด ๖๗.๖ คะแนนตามด้วยสวีเดน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสิงคโปร์ ตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High-income Economies)


ขณะที่ประเทศที่มีการพัฒนานวัตกรรมค่อนข้างสูงในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก มีการจัดอันดับ ดังนี้ สิงค์โปร์ (อันดับที่ ๕) เกาหลีใต้ (อันดับที่ ๑๐) จีน (อันดับที่ ๑๒) ญี่ปุ่น (อันดับที่ ๑๓) ฮ่องกง (อันดับที่ ๑๗) ออสเตรเลีย (อันดับที่ ๒๔) นิวซีแลนด์ (อันดับที่ ๒๗) และ มาเลเซีย (อันดับที่ ๓๖)


สำหรับจีนนั้น ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ ๑๒ (อันดับคงเดิม) และติดอันดับที่ ๑ ของกลุ่มประเทศรายได้ ปานกลาง (Middle-income Economies) ที่มีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมมากที่สุด โดยจุดแข็งของจีนที่ได้รับคะแนนสูงอยู่ที่ (๑) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Human Capital and Research โดยมีคะแนนสูงในหมวดผลการสอบ PISA Scale ด้าน การอ่าน คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ หมวดนักลงทุนด้าน R&D ของบริษัทระดับโลก หมวดการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก (๒) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Infrastructure โดยมีคะแนนสูงในหมวดการลงทุนรวม (๓) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Market Sophistication โดยมีคะแนนสูงในหมวดขนาดของตลาด การกระจายของอุตสาหกรรมภายในประเทศ (๔) ตัวชี้วัด ในกลุ่ม Business Sohistication โดยมีคะแนนสูงในหมวดค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (GERD) สำหรับพนักงาน และการพัฒนาการวิจัยตามคลัสเตอร์ (๕) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Knowledge and Technology Output โดยมีคะแนนสูง ในหมวดการสร้างองค์ความรู้ โดยเฉพาะการจดสิทธิบัตร การจัดทำโมเดลการใช้งาน และในหมวดผลกระทบจากองค์ความรู้ โดยเฉพาะด้านผลิตภาพ (Productivity) ของแรงงาน และ (๖) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Creative Output โดยมีคะแนนสูงในหมวดสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) โดยเฉพาะตราสินค้า และการออกแบบอุตสาหกรรม และหมวดการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ นอกจากนี้ ตุรกี และอินเดีย ยังคงรักษาอันดับที่เข้ามาอยู่ในกลุ่ม ๔๐ ประเทศแรกของดัชนี GII


สำหรับประเทศในอาเซียน ไทยอยู่ในอันดับที่ ๔๓ ซึ่งยังคงอันดับเดิมจากปี ๒๕๖๔ สิงคโปร์ (อันดับที่ ๕) ยังคงเป็นประเทศที่ติดอันดับผู้นำด้านนวัตกรรมสูงที่สุดในอาเซียน และอันดับดีขึ้นจากที่เดิมเคยอยู่ในลำดับ ๗ ขณะที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางขั้นสูงเหมือนกับไทยยังคงอันดับที่ ๓๖ ซึ่งเป็นอันดับเดิมในปี ๒๕๖๔ ตามด้วยเวียดนาม (อันดับที่ ๔๖) โดยอันดับดีขึ้นจากเดิมที่อยู่ในลำดับที่ ๔๘ ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ ๕๖) โดยอันดับดีขึ้นจากเดิมที่อยู่ในลำดับที่ ๕๙ อินโดนีเซีย (อันดับที่ ๖๑) โดยอันดับดีขึ้นจากเดิมที่อยู่ในลำดับที่ ๗๕ บรูไน (อันดับที่ ๘๗) โดยอันดับดีขึ้นจากเดิมที่อยู่ในลำดับที่ ๙๒ กัมพูชา (อันดับที่ ๑๐๑) โดยอันดับลดลงจากเดิมที่อยู่ในลำดับที่ ๙๗ และลาว (อันดับที่ ๑๑๐) (ไม่มีข้อมูลของเมียนมาร์) ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า คะแนนรวม GII ของไทยยังตามหลังสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยสิงคโปร์ถือเป็นประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมอันดับ ๑ ทั้งของทวีปเอเชียและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังติดอันดับ ๑ ใน ๕ ของโลก ในขณะที่มาเลเซียติดอันดับที่ ๒ ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (อันดับดีขึ้นจากเดิม) โดยมีคะแนนการส่งเสริมนวัตกรรมรวมหลายด้าน เช่น การส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงและสินค้าสร้างสรรค์ ส่วนเวียดนามอยู่ในอันดับที่ ๒ ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นต่ำ ซึ่งมีสมรรถภาพสูงกว่าความคาดหมายหากพิจารณาถึงระดับการพัฒนา โดยมีจุดแข็งในด้านการนำเข้าและส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูง และการลงทุนด้านค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (GERD) สำหรับพนักงาน

ไทยได้รับการกล่าวถึงในรายงาน GII 2023 ว่า มีความสามารถด้านการส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมในภาพรวม โดยอยู่ในลำดับ ๒ ของกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูงที่มีสมรรถภาพด้านนวัตกรรมสูงกว่าความคาดหมายหากพิจารณาถึงระดับการพัฒนา โดยจุดแข็งของไทยที่ได้รับคะแนนจากสูงอยู่ที่ (๑) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Infrastructure โดยมีคะแนนสูงในหมวด E-participation (๒) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Market Sophistication โดยมีคะแนนสูงในหมวดการให้สินเชื่อ และหมวดการให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชน การกระจายตัวของอุตสาหกรรมในประเทศ (๓) ดัชนีในกลุ่ม Business Sohistication โดยมีคะแนนสูงในหมวดค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (GERD) สำหรับพนักงาน หมวดการใช้จ่ายด้านทรัพย์สินทางปัญญา และหมวดการนำเข้าบริการด้าน ICT และหมวดคนเก่งที่มีพรสวรรค์ด้านการวิจัย (๔) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Knowledge and Technology Output โดยมีคะแนนสูงในหมวดการจัดทำโมเดลการใช้งาน และหมวดการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง และ (๕) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Creative Output โดยมีคะแนนสูงในหมวด การส่งออกสินค้าสร้างสรรค์


ขณะที่จุดอ่อนของไทย ได้แก่ (๑) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Institution โดยเฉพาะในหมวดสภาพแวดล้อมทางกฎระเบียบ และหมวดต้นทุนจากการเลิกจ้างงาน (๒) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Human Capital and Research โดยเฉพาะในหมวดค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาต่อ GDP หมวดอัตราส่วนนักเรียน-ครูในโรงเรียนประถม และหมวดนักลงทุนด้าน R&D ของบริษัทระดับโลก (๓) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Business Sohistication โดยเฉพาะในหมวดการดำเนินงานด้านค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (GERD) สำหรับพนักงานของภาคธุรกิจ และหมวดการนำเข้าการบริการด้าน ICT (๔) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Knowledge and Technology Output โดยเฉพาะในหมวดการส่งออกการบริการด้าน ICT และ (๕) ตัวชี้วัดในกลุ่ม Creative Output โดยเฉพาะหมวดการส่งออกการบริการด้านวัฒนธรรมและบริการด้านการสร้างสรรค์ และหมวดภาพยนตร์เรื่องยาว

345 views0 comments

Comentarios


bottom of page