ตอนที่ 3: ผลงานสู่ความสำเร็จ ของ WTO (Needs Review)
ตลอดระยะ 25 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการจัดตั้งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) มาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 WTO คือองค์การที่ทำหน้าที่กำกับและลดอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศ เป็นตัวกลางในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดี พร้อมทั้งมีหน้าที่ติดตามตรวจสอบนโยบายและการดำเนินงานของสมาชิกในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงการเป็นเวทีในการเจรจาการเปิดเสรีทางการค้าเพิ่มเติม บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เป็นธรรมทั้งประเทศเล็กและประเทศใหญ่ ภายใต้หลักความโปร่งใสและเท่าเทียม เพื่อปฏิรูปโครงสร้างการค้าและส่งเสริมการค้าให้เป็นเสรี เป็นธรรม และคาดการณ์ได้ อันนำไปสู่ระบบการค้าที่มั่นคงและลดความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงในประชาคมโลก
ความสำเร็จของ WTO ตลอด 25 ปี (Approved)
จำนวนประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 128 ประเทศ เป็น 164 ประเทศ โดยมีอัฟกานิสถานเป็นสมาชิก WTO ประเทศล่าสุดซึ่งเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อปี พ.ศ. 2559 (2016) โดยคิดเป็นมากกว่า 98% ของชาติที่มีการค้าระหว่างประเทศ ลำดับที่ 164
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 อัตราเฉลี่ยของภาษีศุลกากรลดลงจาก 10.5% เหลือ 6.4% ช่วยให้ใน 25 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าโลกขยายตัวเกือบ 4 เท่าตัว ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งอยู่ที่ 2 เท่าตัว
นับแต่ปี พ.ศ. 2538 WTO ได้เจรจากรณีพิพาททางการค้าไปแล้วกว่า 600 ครั้ง อันหมายถึงความเชื่อมั่นของประเทศสมาชิกที่มีต่อกลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO และพร้อมจะฟังคำตัดสินของ WTO ที่สามารถยุติข้อพิพาทได้โดยปราศจากความตึงเครียดและลดความรุนแรง
มีการจัดทำทำความตกลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ITA ในปี พ.ศ. 2541 และการขยายข้อตกลงดังกล่าวในปี พ.ศ. 2558 เพื่อลดภาษีนำเข้าสินค้าไอทีเหลือ 0% ใน 7 หมวดหลัก กว่า 200 รายการ และผลการประมวลข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของไทยในสินค้าภายใต้ความตกลง ITA พบว่าการส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากตลอดระยะเวลา 11 ปี (2544-2554) โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 11,217.97 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2544 เป็น 35,735.77 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ. 2544 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) เท่ากับร้อยละ 12.28 และเมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์จำลองระหว่างการมีกับการไม่มีความตกลง ITA พบว่า ในภาพรวมของระบบเศรษฐกิจ ความตกลง ITA ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของ GDP ที่ร้อยละ 0.53*
การแก้ไขความตกลงทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) เพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถเข้าถึงเวชภัณฑ์ได้ในราคาที่สมเหตุสมผล โดยไม่ขัดพันธกรณีภายใต้ WTO ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2548 ประเทศภาคีของ WTO ได้เห็นชอบให้มีการแก้ไขข้อบทใน TRIPS ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรยาเพื่อให้ประเทศที่ประสบปัญหาด้านสาธารณสุขเข้าถึงยาสำคัญต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ซึ่งประเทศไทยได้ให้การรับรองการแก้ไขดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2559 และ TRIPS ฉบับที่แก้ไขมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2560* (*ข้อมูลจาก รายงานภาพรวมของความสอดคล้องระหว่างความตกลงว่าด้วยการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) กับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไทย รวมไปถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาไทยที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณสุข, 2561.)
การบังคับใช้ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement) ซึ่งได้ข้อสรุปการเจรจาเมื่อปี พ.ศ. 2556 และบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2560 และการดำเนินการเต็มรูปแบบของ TFA สามารถลดต้นทุนการค้าโดยเฉลี่ย 14.3% และเพิ่มการค้าโลกได้ถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี และช่วยลดเวลาการนำเข้าสินค้าลงได้ประมาณหนึ่งวันครึ่งและส่งออกสินค้าได้เกือบสองวัน
การยกเลิกการอุดหนุนส่งออกสินค้าเกษตร โดยสมาชิก WTO ได้มีมติรัฐมนตรีในเรื่องดังกล่าวเมื่อปี พ.ศ. 2558 ส่งผลให้เกิดการลดการบิดเบือนและเพิ่มความยุติธรรมทางการค้าสินค้าเกษตร รวมทั้งช่วยบรรลุเป้าหมายเรื่องการขจัดความหิวโหย ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อ 2 ขององค์การสหประชาชาติ
Comments