top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

ครบรอบ 25 ปี WTO กับบทบาทหัวเรือใหญ่ระบบการค้าโลก



ตอนที่ 1: ความเป็นมาและบทบาทของ WTO

องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม 1995 แต่ระบบการค้าขายได้เริ่มต้นขึ้นก่อนหน้านั้นแล้วครึ่งศตวรรษ ตั้งแต่ปี 1948 โดยความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade : GATT) ได้กำหนดกฎเกณฑ์ระบบการค้าในช่วงดังกล่าว เมื่อเวลาผ่านไป ความตกลงแกตต์ถูกพัฒนาผ่านการเจรจารอบต่าง ๆ โดยรอบเจรจาแกตต์ครั้งสุดท้ายและเป็นรอบที่ใหญ่ที่สุด คือการเจรจาการค้าพหุภาคี (Multilateral Trade Negotiation) รอบอุรุกวัย (Uruguay Round) ซึ่งกินเวลาถึง 8 ปี ตั้งแต่ปี 1986 ถึง 1994 นำมาสู่การจัดตั้ง WTO ทั้งนี้ ในอดีตความตกลงแกตต์จะดำเนินการเกี่ยวกับการค้าขายสินค้าเป็นหลัก แต่ระบบการค้าพหุภาคีภายใต้ WTO และข้อตกลงต่างๆ ครอบคลุมถึงการค้าบริการ และสิ่งประดิษฐ์ งานสร้างสรรค์ และการออกแบบ (ทรัพย์สินทางปัญญา) ด้วย


นับตั้งแต่นั้นมา องค์การการค้าโลกมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการจัดทำ และกำกับดูแลกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศสมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสรรคและก่อให้เกิดความยุติธรรมทางการค้า และส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาสำหรับสมาชิกทุกประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวม 164 ประเทศ โดยประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีความตกลงแกตต์ตั้งแต่ปี 2525 (ค.ศ. 1982) จึงเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกโดยอัตโนมัติ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2538 โดยเป็นสมาชิกลำดับที่ 59

ในช่วงที่การดำเนินงานยังอยู่ภายใต้ความตกลงแกตต์ ไทยมีสำนักงานพาณิชย์ไทย ณ นครเจนีวา เป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบในฐานะผู้แทนไทยซึ่งเป็นภาคีความตกลงแกตต์ หลังจากมีการจัดตั้งองค์การการค้าโลกขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งสำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก ภายใต้สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ มีเอกอัครราชทูตเป็นหัวหน้าสำนักงาน และมีข้าราชการจากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาประจำการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนไทยในการประชุมคณะมนตรีและคณะกรรมการภายใต้กรอบ WTO รวมถึงปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


หน้าที่สำคัญขององค์การการค้าโลก (WTO)


เป็นเวทีสำหรับการเจรจาการค้า


ความตกลงของ WTO ครอบคลุมถึงสินค้า บริการ และทรัพย์สินทางปัญญา โดยได้กำหนดหลักการการเปิดเสรี ข้อยกเว้นต่างๆ ตลอดจนข้อผูกพันของสมาชิกในการลดภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้าอื่นๆ และการเปิดตลาดการค้าบริการ นอกจากนี้ยังกำหนดกระบวนการสำหรับการระงับข้อพิพาท โดยความตกลงเหล่านี้จะมีการเจรจาปรับปรุงเป็นครั้งคราว รวมทั้งยังสามารถจัดความตกลงใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งขณะนี้ความตกลงหลายฉบับกำลังอยู่ระหว่างการเจรจา


บังคับใช้ความตกลงและติดตามตรวจสอบ


ความตกลงของ WTO กำหนดให้สมาชิกต้องมีความโปร่งใสเกี่ยวกับนโยบายทางการค้าโดยการแจ้งกฎหมายและมาตรการที่มีการใช้บังคับ ต่อ WTO คณะมนตรีและคณะกรรมการของ WTO มีการดำเนินงานเพื่อให้มั่นใจว่าสมาชิกปฏิบัติตามและมีการบังคับใช้มาตรการทางการค้าสอดคล้องกับความตกลงของ WTO นอกจากนี้ WTO ยังมีการทบทวนนโยบายการค้าของสมาชิกเป็นระยะ โดยในการทบทวนนโยบายฯ แต่ละครั้งจะต้องมีการจัดทำรายงานอย่างละเอียดโดยรัฐบาลของสมาชิกที่เกี่ยวข้องและโดยฝ่ายเลขาธิการ WTO


การระงับข้อพิพาท


กระบวนการของ WTO เกี่ยวกับการระงับข้อขัดแย้งทางการค้าตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Understanding) มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบังคับใช้กฎเกณฑ์ WTO เพื่อให้การค้าเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้ สมาชิกต่อ WTO หากเห็นว่าสิทธิตามข้อตกลงของตนถูกละเมิด โดยผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ได้รับแต่งตั้งเป็นการเฉพาะจะมีคำตัดสินโดยการตีความความตกลงและพันธกรณีของสมาชิกแต่ละประเทศ


การเสริมสร้างศักยภาพทางการค้า


ความตกลงของ WTO จะมีข้อบทเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงระยะเวลาที่นานขึ้นในการบังคับใช้ความตกลงและข้อผูกพันต่างๆ ในการเพิ่มโอกาสทางการค้า และการสนับสนุนที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในด้านการค้า การจัดการกับกรณีพิพาท และการบังคับใช้ มาตรฐานทางเทคนิค โดย WTO มีการจัดภารกิจความร่วมมือทางเทคนิคหลายร้อยภารกิจในประเทศกำลังพัฒนาเป็นรายปี นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรจำนวนมากในแต่ละปีที่เจนีวาสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งยังมีโครงการ Aid-for-Trade ที่ช่วยพัฒนาทักษะและโครงสร้างพื้นฐานของสมาชิกประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้สามารถขยายการค้าของตนได้



การสร้างความสามารถทางการค้า


ความตกลงของ WTO จะมีข้อกำหนดเฉพาะสำหรับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงระยะเวลาที่นานขึ้นในการนำความตกลงและข้อผูกมัดต่างๆ ไปใช้ มาตรการในการเพิ่มโอกาสทางการค้า และการสนับสนุนที่จะช่วยให้ประเทศดังกล่าวสร้างความสามารถทางการค้าของตน รวมถึงการจัดการข้อพิพาท และการนำมาตรฐานทางเทคนิคไปใช้ โดย WTO จัดภารกิจความร่วมมือทางเทคนิคหลายร้อยภารกิจในประเทศกำลังพัฒนาเป็นรายปี นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรจำนวนมากในแต่ละปีที่เจนีวาสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ความช่วยเหลือทางการค้ามุ่งเพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาพัฒนาทักษะและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการขยายการค้าของตน


การสื่อสารและเสริมสร้างความเข้าใจให้กับภาคส่วนต่างๆ


WTO มีการหารือเป็นประจำกับองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGO) สมาชิกรัฐสภา และองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รวมทั้งมีการให้ข้อมูลกับสื่อ และสาธารณชนในแง่มุมที่หลากหลายมุ่งหวังการพัฒนาความร่วมมือและเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับกิจกรรมของ WTO




1,038 views0 comments

Comments


bottom of page