เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 ประเทศสมาชิกกลุ่มแถลงการณ์ร่วมวินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศ (Joint Statement Initiative on Services Domestic Regulation: JI DR) ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ได้เห็นชอบร่วมกันที่จะเริ่มต้นกระบวนการรับรอง (certification procedure) ตารางข้อผูกพันภายใต้ WTO ของสมาชิกที่ดำเนินกระบวนการภายในประเทศแล้วเสร็จโดยพร้อมเพรียงกัน
โดยในการประชุมของกลุ่มฯ ที่ผ่านมาดังกล่าว มีสมาชิกของกลุ่มฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ได้ดำเนินกระบวนการภายในประเทศแล้วเสร็จ และมีความประสงค์ที่จะดำเนินการรับรองดังกล่าวแล้ว รวม 59 ประเทศ จากทั้งหมด 69 ประเทศ (รวมไทย) ซึ่งเป็นไปตามแถลงการณ์ของกลุ่มฯ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ได้ตั้งเป้าหมายการยื่นตารางข้อผูกพันตามกระบวนการรับรองภายใน 12 เดือน
และนับจากนี้ สมาชิก WTO จะมีระยะเวลาในการพิจารณาตารางข้อผูกพันดังกล่าว 45 วัน หากไม่มีการคัดค้านจากสมาชิกในช่วงระยะเวลาดังกล่าว กระบวนการรับรองจะสิ้นสุดลงในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 และวินัยฯ จะมีผลใช้บังคับเป็นส่วนหนึ่งของตารางของผูกพันของสมาชิกในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 และสำหรับในกรณีพิเศษของสมาชิกบางประเทศ วินัยฯ จะมีผลใช้บังคับหลังจากที่สมาชิกดังกล่าวได้ดำเนินกระบวนการภายในประเทศเสร็จสิ้นแล้ว
จากข้อมูลการศึกษาของ WTO และ OECD ระบุว่า ภาคการค้าบริการเป็นสาขาที่มีการเติบโตมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจโลก และมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (Gross Domestic Product: GDP) ของโลก โดยสมาชิกของกลุ่มฯ ที่เข้าร่วมกระบวนการรับรองรวม 59 ประเทศ นั้น มีมูลค่าของการค้าบริการคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 87 ของการค้าบริการของโลก และการดำเนินการตามตารางข้อผูกพันด้านบริการของกลุ่มฯ ยังจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนทางการค้าได้ถึง 150 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจะส่งผลดีต่อภาคการบริการในภาพรวม โดยเฉพาะด้านบริการการเงิน การบริการธุรกิจ การบริการด้านโทรคมนาคม และการขนส่ง
ทั้งนี้ ผลการศึกษาฯ ยังระบุว่า ต้นทุนการค้าบริการมีต้นทุนที่สูงกว่าการค้าสินค้าถึงสองเท่าตัว และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบต่าง ๆ ถือเป็นหนึ่งในต้นทุนของการค้าบริการที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 40 ของต้นทุนบริการทั้งหมด โดยอุปสรรคสำคัญของการค้าบริการระหว่างประเทศ ได้แก่ การขาดความโปร่งใสของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง และกระบวนการทำงานภายในประเทศที่ขาดประสิทธิภาพ
สำหรับในส่วนของไทยนั้น ไทยได้แจ้งให้ที่ประชุมกลุ่มฯ ทราบถึงความพร้อมในการดำเนินกระบวนการรับรองพร้อมกับประเทศสมาชิกกลุ่มฯ พร้อมเพรียงกับประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 เห็นชอบร่างตารางข้อผูกพันด้านบริการฯ เพื่อนำวินัยในการใช้กฎระเบียบภายในประเทศสำหรับภาคบริการมาผูกพันเป็นข้อผูกพันเพิ่มเติมของไทยตามความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) ของ WTO โดยวินัยดังกล่าวไม่ได้ตัดสิทธิประเทศสมาชิกในการออกกฎหมายหรือกฎระเบียบเพื่อใช้กำกับดูแลธุรกิจบริการในประเทศ รวมทั้งไม่ได้ เปลี่ยนแปลงข้อผูกพันการเปิดตลาดภาคบริการ (Market Access) ที่ไทยได้เคยผูกพันไว้แล้วตามความตกลง แต่เป็นเพียงการยอมรับกฎระเบียบทางการค้า (Rules) ระหว่างประเทศสมาชิก โดยเป็นการขยายความและสร้างความชัดเจนให้กับข้อบทในความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) ในส่วนของเงื่อนไขและกระบวนการ การกำหนดคุณสมบัติของผู้ให้บริการที่จะเข้ามาประกอบการค้าบริการภายในประเทศ (เช่น การศึกษา ประสบการณ์) เงื่อนไขและกระบวนการการให้ใบอนุญาตและมาตรฐานทางเทคนิคของภาคบริการ เพื่อให้การใช้กฎระเบียบภายในประเทศมีความโปร่งใสมีประสิทธิภาพ และสามารถคาดการณ์ได้
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ไทยได้เข้าร่วมความตกลง GATS ของ WTO และผูกพันสาขาบริการในความตกลงทั้งสิ้น 10 สาขาหลัก (77 สาขาย่อย) ซึ่งในข้อบท 6 วรรค 4 ของความตกลง GATS กำหนดให้ประเทศสมาชิก WTO เจรจาเพื่อจัดทำวินัยในการใช้กฎระเบียบภายในประเทศสำหรับภาคบริการ ซึ่งครอบคลุม ๕ ประเด็นได้แก่ (1) เงื่อนไขของการกำหนดคุณสมบัติ (2) กระบวนการของการกำหนดคุณสมบัติ (3) เงื่อนไขของการให้ใบอนุญาต (4) กระบวนการของการให้ใบอนุญาต และ (5) มาตรฐานทางเทคนิค และไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกกลุ่มฯ และได้ร่วมเจรจาจัดทำวินัยเพื่อกำกับดูแลกฎระเบียบภายในประเทศจนได้ข้อสรุปเป็นเอกสารอ้างอิงเรื่องกฎระเบียบภายในประเทศสำหรับภาคบริการ (Reference Paper on Services Domestic Regulations) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564
สาระสำคัญของเอกสารดังกล่าว ประกอบด้วย ส่วนที่ 1: หลักการทั่วไป โดยระบุถึง (1) วัตถุประสงค์ของวินัยฯ สำหรับภาคบริการ โดยการเสริมสร้างให้การดำเนินการของหน่วยงานผู้มีอำนาจของรัฐมีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และสามารถคาดการณ์ได้ในการกำหนดเงื่อนไขและกระบวนการของการกำหนดคุณสมบัติ เงื่อนไขและกระบวนการของการให้ใบอนุญาตและมาตรฐานทางเทคนิคของภาคบริการ (2) ความครอบคลุม โดยให้บังคับใช้วินัยฯ กับสาขาบริการที่ได้ผูกพันไว้ (3) การยอมรับสิทธิในการกำกับดูแลของสมาชิก โดยตระหนักถึงสิทธิในการกำกับดูแลและการนำกฎระเบียบใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางนโยบายของประเทศสมาชิก วินัยฯ จะไม่ถูกตีความว่า เป็นการบัญญัติ หรือกำหนดบทบัญญัติด้านกฎระเบียบเฉพาะ อย่างไรก็ตาม วินัยฯ จะไม่ถูกตีความว่า เป็นการลดทอนพันธกรณีของสมาชิกภายใต้ความตกลงว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) และ (4) ประเด็นอื่น ๆ ได้แก่ การตระหนักถึงระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันของประเทศสมาชิกโดยให้มีระยะเวลาปรับตัวสูงสุด 7 ปี การให้ความยืดหยุ่น และการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการเสริมสร้างขีดความสามารถแก่ประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ส่วนที่ 2: วินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศสำหรับภาคบริการ (Disciplines on Services Domestic Regulation) และส่วนที่ 3: วินัยทางเลือก ซึ่งเป็นการปรับวินัยฯ มาจากส่วนที่ 2 ให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของบริการด้านการเงินมากขึ้น
Comentarios