1. การใช้มาตรการอุดหนุนถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหวในแวดวงการค้าโลก ตั้งแต่ปี 2019 จำนวนข้อพิพาททางการค้าเกี่ยวกับการใช้มาตรการอุดหนุนได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยจีนตกเป็นจำเลยสำคัญ ที่ถูกกล่าวหาว่ามีระบบเศรษฐกิจที่ไม่พึ่งพากลไกตลาด ในขณะเดียวกัน จีนก็อ้างว่าประเทศมหาอำนาจที่พัฒนาแล้วทั้งหลายก็ใช้มาตรการอุดหนุน อย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจหรือวิกฤตการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ภายในองค์การการค้าโลกยังไม่มีคณะทำงานว่าด้วยมิติที่เกี่ยวข้องกับการค้าของมาตรการอุดหนุนในภาพรวมอย่างจริงจัง ทั้งยังมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือและสามารถเปรียบเทียบข้ามประเทศได้เป็นจำนวนไม่มากที่เกี่ยวข้องกับการใช้มาตรการอุดหนุน ทำให้การศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับมาตรการอุดหนุน ยังคงมีน้อยและทำได้ยาก
2. อย่างไรก็ตาม รายงาน Global Trade Alert โดย ศ.ดร. Simon Evenett ได้ใช้เทคนิค Webscraping ดึงข้อมูลมาตรการการอุดหนุนต่อภาคเอกชนของรัฐบาลในจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ที่ถูกใช้ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 รวม 18,137 มาตรการ ซึ่งถือเป็นคลังข้อมูลการอุดหนุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ปัจจุบัน โดยมี ผลการศึกษาที่น่าสนใจหลายประการ
3. ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551 จีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ได้ใช้มาตรการการอุดหนุนต่อภาคเอกชน รวม 18,137 มาตรการ โดยส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต (10,814 มาตรการ) รองมาอยู่ในภาคบริการ (4,564 มาตรการ) และท้ายที่สุดคือภาคการเกษตร (2,171 มาตรการ) แสดงให้เห็นว่าการอุดหนุนของ ทั้ง 3 ประเทศ/ภูมิภาคไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในภาคการเกษตรเท่านั้น
4. การอุดหนุนโดยรัฐบาลจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในช่วงเวลาวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และวิกฤตการณ์การเงินโลก โดยทั้ง 3 ประเทศ/ภูมิภาคนี้ได้มีการใช้มาตรการอุดหนุนรวมทั้งสิ้น 2,488 มาตรการในช่วงวิกฤตการเงินโลกระหว่างปี 2008 ถึง 2010 และใช้ 3,754 มาตรการ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี 2020 ถึง 2021 และใช้ 11,861 มาตรการในช่วงเวลาระหว่างปี 2011 ถึง 2019
5. รัฐบาลกลางไม่ใช่เป็นเพียงหน่วยงานเดียวที่ให้การอุดหนุนในจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป แต่ยังมีมาตรการอุดหนุนอีก 677 มาตรการที่ถูกใช้โดยรัฐบาลท้องถิ่นและ 3,446 มาตรการที่ใช้โดยรัฐบาลสหภาพเหนือชาติ (Supra-national government) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งยุโรป
6. การใช้มาตรการอุดหนุนไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจที่ไม่ได้อิงกับกลไกตลาดเท่านั้น เนื่องจาก สภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการใช้มาตรการอุดหนุนรวมกันถึง 12,629 มาตรการ ดังนั้น ประเทศที่อิงกับระบบกลไกตลาดเสรีก็มีการใช้มาตรการอุดหนุนเป็นจำนวนมาก
7. ในปี 2019 ก่อนการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19 ร้อยละ 62 ของมูลค่าการค้าสินค้าทั่วโลกเป็นการค้าในสินค้าและในตลาดของบริษัทที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา จีน และสหภาพยุโรป แสดงให้เห็นว่าการอุดหนุนจากรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ/ภูมิภาคนี้มีศักยภาพในการส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อการค้าสินค้าโลก
8. ในปี 2019 ร้อยละ 84 ของมูลค่าสินค้าที่นำเข้ามายังจีนคือสินค้าประเภทเดียวกันกับสินค้าที่ผลิตโดยบริษัทที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีน โดยสำหรับสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ตัวเลขเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 85.3 และ ร้อยละ 66.4 แสดงให้เห็นว่าสินค้าจากทั่วโลกรวมทั้งไทยที่ถูกนำเข้าไปยังจีน สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปนั้น มีความเป็นไปได้ในการได้รับผลกระทบจากการอุดหนุนโดยรัฐบาลทั้ง 3 ประเทศ/ภูมิภาคเป็นวงกว้าง
9. งานศึกษายังพบหลักฐานการใช้มาตรการอุดหนุนแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน (Tit-for-tat) บ่อยครั้ง ระหว่าง ทั้ง 3 มหาอำนาจ ตัวอย่างที่เห็นเด่นชัดคือ 71 ใน 100 มาตรการอุดหนุนที่สหภาพยุโรปประกาศใช้ ภายใน 6 เดือนให้หลัง จะถูกสหรัฐอเมริกาประกาศใช้มาตรการอุดหนุนในสินค้าประเภทเดียวกัน ในขณะเดียวกัน 79 ใน 100 มาตรการอุดหนุนที่สหรัฐอเมริการประกาศใช้ จะถูกสหภาพยุโรปประกาศใช้มาตรการอุดหนุนในสินค้าประเภทเดียวกัน ภายใน 6 เดือนให้หลัง ในขณะที่จีนตอบสนองต่อการใช้มาตรการอุดหนุนของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ค่อนข้างช้ากว่า โดยใช้มาตรการอุดหนุนเดียวกันเพียงร้อยละ 56 และร้อยละ 42 ของมาตรการอุดหนุนที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ
ที่มา:
The 28th Global Trade Alert Report: Subsidies and Market Access: Towards and Inventory of Corporate Subsidies by China, the European Union, and the United States
Comments