สถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศยังคงตึงเครียด ตามรายงานสถิติของ WTO เกี่ยวกับการใช้มาตรการทางการค้า การแสดงข้อกังวลทางการค้า และการฟ้องกรณีพิพาทภายใต้ WTO ระหว่างกลางเดือนตุลาคม 2561 ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562
ในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา สมาชิก WTO ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น 38 มาตรการ อาทิ การขึ้นภาษีนำเข้าและส่งออก การห้ามนำเข้า และการใช้มาตรการปกป้อง เป็นต้น ส่งผลกระทบต่อการค้า 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2555 ร้อยละ 44 โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศในกลุ่ม G20 ขณะเดียวกัน มีการใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า 47 มาตรการ อาทิ การลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้า และการผ่อนปรนพิธีการด้านศุลกากรให้ยืดหยุ่นขึ้น เป็นต้น โดยครอบคลุมการค้าประมาณ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สมาชิก WTO เปิดการไต่สวนมาตรการเยียวยาทางการค้าโดยเฉลี่ย 14 ครั้งต่อเดือน ต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2555 ครอบคลุมการค้าประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นการไต่สวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ขณะเดียวกัน ได้ยุติการไต่สวนและการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าที่ผ่านมาโดยเฉลี่ย 16 ครั้งต่อเดือน ครอบคลุมการค้าประมาณ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2555 ที่มีการยุติการไต่สวนและการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้ามากกว่าการเปิดไต่สวน
ในปี 2561 สมาชิก WTO ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด 202 ครั้ง สูงขึ้นจาก 192 ครั้งในปี 2560 ประเทศที่ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดมากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (41 ครั้ง) อินเดีย (36 ครั้ง) จีน (23 ครั้ง) และปากีสถาน (19 ครั้ง) โดยสินค้าที่ถูกไต่สวนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ โลหะ (ร้อยละ 41) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 16) สมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากการไต่สวนมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดมากที่สุดระหว่างปี 2559 - 2561 คือ จีน (ร้อยละ 23 ของการไต่สวน) ตามมาด้วยเกาหลีใต้ ไทย อินเดีย บราซิล ญี่ปุ่น และจีนไทเป
นอกจากนี้ ในปี 2561 สมาชิก WTO ใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน 28 ครั้ง สูงขึ้นจาก 18 ครั้งในปี 2560 สหรัฐอเมริกา (18 ครั้ง) และแคนาดา (6 ครั้ง) เป็นประเทศที่ใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุนมากที่สุด โดยสินค้าที่ถูกไต่สวนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ โลหะ (ร้อยละ 45) เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 13) และพลาสติก (ร้อยละ 13) สมาชิกที่ถูกไต่สวนมากที่สุดระหว่างปี 2559 - 2561 ยังคงเป็นจีน (ร้อยละ 47 ของการไต่สวน) รองลงมา ได้แก่ อินเดียและเวียดนาม
สำหรับมาตรการปกป้อง สมาชิก WTO มีการใช้ในปี 2561 รวม 10 ครั้ง สูงขึ้นจาก 9 ครั้งในปี 2560 มาดากัสการ์ (3 ครั้ง) และสหรัฐอเมริกา (2 ครั้ง) เป็นประเทศที่ใช้มาตรการปกป้องมากที่สุด โดยสินค้าที่ถูกไต่สวนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ โลหะ (ร้อยละ 41) ไม้ (ร้อยละ 12) สิ่งทอ (ร้อยละ 12) หินและปูนปลาสเตอร์ (ร้อยละ 12)
รายงานฯ ยังชี้ให้เห็นว่า จำนวนข้อกังวลทางการค้าที่ถูกหยิบยกขึ้นหารือในการประชุมคณะกรรมการ/คณะมนตรีภายใต้ WTO แต่ละครั้งสูงขึ้นร้อยละ 30 โดยมีข้อกังวลทางการค้าจำนวนมากถูกยกขึ้นในการประชุมอย่างต่อเนื่อง และมีการหารือในหลายคณะกรรมการ/คณะมนตรี แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ
ระหว่างกลางเดือนตุลาคม 2561 ถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2562 สมาชิก WTO นอกจากจะแสดงข้อกังวลทางการค้าเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีการยื่นขอหารือเพื่อเริ่มต้นการฟ้องเป็นกรณีพิพาท 16 ครั้ง สูงขึ้นจาก 13 ครั้งในช่วงเดียวของปีก่อนหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการยื่นฟ้องเกี่ยวกับข้อกฎหมายภายใต้ความตกลง GATT 1994 ความตกลงว่าด้วยการตอบโต้การทุ่มตลาด ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนและการตอบโต้การอุดหนุน ความตกลงเกษตร และความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้อง นอกจากนี้ มีการตั้งคณะผู้พิจารณามากถึง 24 คณะ สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เข้าร่วมกระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO มากที่สุด โดยเป็นผู้ยื่นฟ้อง 7 คดี และถูกฟ้อง 10 คดี ตามมาด้วยจีนและสหภาพยุโรปซึ่งต่างยื่นฟ้อง 2 คดีและถูกฟ้อง 2 คดี ในภาพรวม สมาชิก WTO มีการดำเนินการภายใต้กระบวนการระงับข้อพิพาทในขั้นตอนคณะผู้พิจารณา อนุญาโตตุลาการ และอุทธรณ์ โดยเฉลี่ย 56 ครั้งต่อเดือนในปี 2562 ถือเป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง WTO
ขอบคุณรูปภาพจาก www.wto.org
15 กรกฎาคม 2562
ดร. ดวงกมล คาร์พินสกี
ผู้รายงาน
Commentaires