Image from freepik.com
การค้าดิจิทัลมีพลวัตการเติบโตอย่างรวดเร็วในระบบเศรษฐกิจของโลก โดยจากเอกสาร Digital Trade for Development ซึ่งจัดทำโดย 5 องค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ IMF OECD UN World Bank และ WTO เมื่อปี 2567 ระบุว่า มูลค่าการส่งออกบริการแบบดิจิทัล (Digitally Delivered Service) ทั่วโลกมีสูงถึง 3.82 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2565 หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 54 ของส่วนแบ่งของการส่งออกบริการทั่วโลกทั้งหมด
การค้าดิจิทัลและเทคโนโลยีดิจิทัลได้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการค้าสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ให้เพิ่มขึ้น โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การให้บริการคอมพิวเตอร์เป็นภาคบริการที่มีพลวัตมากที่สุด แต่ในปี 2565 การส่งออกบริการแบบดิจิทัล (Digitally Delivered Service) ที่ครอบคลุมธุรกิจ บริการวิชาชีพ และเทคนิค มีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 40 รองลงมาคือ การให้บริการคอมพิวเตอร์ (ร้อยละ 20) การบริการทางการเงิน (ร้อยละ 16) และการบริการที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา (ร้อยละ 12) ขณะที่ความต้องการในรูปแบบของการดาวน์โหลดเพลง ภาพยนตร์ หนังสือ และซอฟต์แวร์ ก็มีเพิ่มมากขึ้นด้วย รวมถึงมีการขยายตัวของแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งออนไลน์ e-books และซอฟต์แวร์สำหรับดาวน์โหลด ได้ช่วยให้การเข้าถึงบริการเป็นไปได้ง่ายขึ้นและมีค่าใช้จ่ายน้อยลง
นอกจากนี้ จากรายงานฯ ยังพบว่า ความต้องการผลิตภัณฑ์และดิจิทัลโซลูชั่นที่เป็นนวัตกรรมใหม่ยังมีเพิ่มมากขึ้น และตั้งแต่ปี 2555-2564 การส่งออกสินค้า ICT ทั่วโลกได้ขยายตัวขึ้นถึงร้อยละ 50 โดยมีมูลค่าประมาณ 2.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศในเอเชียยังคงเป็นผู้นำด้านการค้าสินค้า ICT ขณะที่ประเทศในภูมิภาคอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) และประเทศที่กำลังพัฒนาหลายแห่งในแอฟริกายังคงมีสัดส่วนการค้าสินค้า ICT ค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากความแตกต่างในการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม
แม้ว่าการค้าดิจิทัลจะเติบโตขึ้นมากขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทักษะความสามารถในการใช้เทคโนโลยีของผู้คน โดยจากสถิติ มีประชากรราว 5.4 พันล้านคน หรือร้อยละ 67 ของประชากรโลก สามารถเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตได้ แต่ยังมีประชากรอีกราว 2.6 พันล้านคนหรือหนึ่งในสามของประชากรโลก ที่ยังคงออฟไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำและปานกลางถึงต่ำ อาศัยอยู่ในประเทศที่มีอัตราภาษีนำเข้าข้อมูลและอุปกรณ์เทคโนโลยีการสื่อสาร (ICT) ค่อนข้างสูง และมีข้อจำกัดเกี่ยวกับการนำเข้าบริการและมีการแข่งขันบริการโทรคมนาคมที่จำกัด
ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ นับตั้งแต่ปี 2541 WTO ได้มีการดำเนินการและหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก และจัดให้มีการทำแผนงานพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Work Program on E-commerce) ซึ่งเน้นสาระสำคัญเป็นพิเศษในประเด็นเรื่องการนำกฎเกณฑ์ของ WTO จะนำไปใช้กับ E-commerce ให้ได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศสมาชิกที่มีความแตกต่างด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้ หลายฝ่ายมองว่า ประเด็นเกี่ยวกับ E-commerce อยู่ในขอบเขตของหลายความตกลงที่มีอยู่ของ WTO และเห็นว่า เพื่อเป็นการตอบสนองต่อรูปแบบการค้าที่เปลี่ยนไปและเพื่ออำนวยความสะดวกในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ E-commerce จำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาปรับปรุงกฎของ WTO ที่เกี่ยวข้องกับการค้าดิจิทัลที่มีอยู่
โดยภายใต้การเจรจาจัดทำความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของ WTO (Joint Statement Initiative on Electronic Commerce: JSI) ที่ผ่านมา มีสมาชิกเข้าร่วมการเจรจากว่า 90 ประเทศ (รวมไทย) และล่าสุดได้มีการสรุปผลการเจรจาในช่วงการประชุมระดับเอกอัครราชทูตเมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา
ประธานร่วม (Co-convener) ของการเจรจาจัดทำความตกลงดังกล่าว ได้แก่ ผู้แทนจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ได้แถลงการณ์สรุปผลการเจรจาว่า ประเทศผู้ร่วมเจรจาได้ตระหนักถึงความสำคัญของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสร้างโอกาสด้านการค้าและการพัฒนาอย่างครอบคลุม และบทบาทสำคัญของ WTO ในการสนับสนุนหลักการ ที่เปิดกว้าง โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ ยังมองว่า ความสำเร็จของ การเจรจาจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs และมีความจำเป็นที่จะต้องการให้ความสำคัญกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศ LDCs และความช่วยเหลือในการปฏิบัติตามพันธกรณีด้วย
โดยสาระสำคัญหลัก ๆ ของร่างความตกลงฯ ได้แก่ การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การเปิดกว้างสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น การยกเว้นภาษีศุลกากร การคุ้มครองผู้บริโภคและข้อมูลส่วนบุคคล ความโปร่งใส และการบริการโทรคมนาคม เป็นต้น
นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังได้มีข้อริเริ่มความร่วมมือใหม่ให้ประเทศ LDCs เพื่อสนับสนุนการค้าดิจิทัลด้วย โดยเมื่อปี 2566 ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดตัวกรอบความร่วมมือ “E-commerce Capacity Building Framework” เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของประเทศ LDCs ในการเจรจาและเข้าร่วม E-Commerce JSI และการเพิ่มโอกาสการค้าดิจิทัลด้วย
นอกเหนือจากนี้ WTO ยังได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการต่ออายุยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นการชั่วคราว (Moratorium on Customs Duties on Electronic Transmission) โดยยังคงให้มีการทบทวนแนวปฏิบัตินี้ ทุกๆ สองปี หรือตามรอบการประชุมรัฐมนตรีการค้าโลก (Ministerial Conference: MC) โดยล่าสุด ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีการค้า ครั้งที่ 13 (MC13) ยังได้มีการพิจารณาและเห็นชอบการดำเนินการดังกล่าวด้วย
ที่ผ่านมา สมาชิก WTO ได้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องการต่ออายุดังกล่าว โดยผู้สนับสนุนมองว่า การต่ออายุจะมีส่วนทำให้สามารถคาดการณ์เรื่องการค้าดิจิทัลได้ สามารถสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวสำหรับการพัฒนาการค้าดิจิทัล สามารถส่งเสริมนวัตกรรม และช่วยลดต้นทุนทางการค้า อีกทั้งการเข้าถึงสินค้าจากต่างประเทศจะมีส่วนช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน สร้างความมั่นใจให้กับการลงในธุรกิจต่อไป ขณะที่ บางประเทศสมาชิกได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการขาดความชัดเจนในขอบเขตของต่ออายุดังกล่าว รวมถึงต้นทุนเสียโอกาส รายได้ทางศุลกากร และการรักษาพื้นที่เชิงนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้วย
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องคำจำกัดความและขอบเขตของการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Transmission) ยังเป็นจุดที่มีความเห็นต่างระหว่างสมาชิก WTO โดยสมาชิกส่วนใหญ่เห็นว่า การส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์จะรวมถึงเนื้อหา (Content) ที่กำลังส่ง ในขณะที่บางสมาชิกเห็นว่า จะครอบคลุมเฉพาะสื่อ (medium) ของผู้ให้บริการเท่านั้น อาทิ การส่งข้อมูลหรือจำนวนบิต (bit) ที่นำส่งข้อมูลดังกล่าว
สมาชิกยังคงมีความเห็นที่ไม่สอดคล้องกันว่า การต่ออายุควรรวมถึงการส่งออกบริการแบบดิจิทัลหรือไม่ และยังมีการอภิปรายเกี่ยวกับผลกระทบต่อรายได้ทางศุลกากร ทางเลือกวิธีการเพิ่มรายได้จากการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้นทุนเสียโอกาสที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบของเทคโนโลยีใหม่ เช่น การพิมพ์แบบ 3D เป็นต้น อีกทั้งบางส่วนยังมองว่า การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเก็บรายได้จากการค้าดิจิทัลได้ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างการจัดหาบริการในประเทศและจากการนำเข้า
อย่างไรก็ดี เพื่อให้ระบบการค้าดิจิทัลมีการพัฒนามากขึ้น เอกสาร Digital Trade for Development ระบุว่ามีความจำเป็นที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องหารือร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวกับกฎระเบียบอื่น ๆ นอกเหนือจากการค้า โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการการไหลของข้อมูลข้ามพรมแดน (Cross-border Data Flows) ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการเติบโตของการค้าดิจิทัล เรื่องการพัฒนานโยบายการแข่งขัน (Competition Policy) ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาตลาดดิจิทัลที่เปิดกว้างและมีพลวัต และเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ ที่จะช่วยสร้างความไว้วางใจในตลาดการค้าดิจิทัล โดยเฉพาะการแก้ไขและปรับปรุงความท้าทายที่สำคัญ ได้แก่ การมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอสำหรับการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคออนไลน์ การโฆษณาชวนเชื่อ ผลิตภัณฑ์และระบบการชำระเงินที่ไม่ปลอดภัยโดยไม่ได้รับอนุญาต การรวบรวมและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า และการระงับข้อพิพาทและกลไกการแก้ไขที่ยังไม่ชัดเจนและไม่เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งในเรื่องนี้ น่าจะได้มีการอภิปรายร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกของ WTO ต่อไป
Comments