top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

ห้ามส่งออกช่วงโควิด ผิดหรือไม่?



จากรายงานของ WTO* มีถึง 80 ประเทศที่ห้ามหรือจำกัดการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอาหารในช่วงวิกฤตโควิด-19 มาตรการดังกล่าวขัดกับความตกลง WTO หรือไม่ และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ที่นี่มีคำตอบ


ภาพรวมการใช้มาตรการ


ประเทศที่ใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออก เพื่อป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แบ่งเป็นสมาชิก WTO 72 ประเทศ (นับสหภาพยุโรปแยกรายประเทศ) และประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก WTO อีก 8 ประเทศ อย่างไรก็ดี มีสมาชิก WTO เพียง 39 ประเทศ ที่ได้แจ้งข้อมูลอย่างครบถ้วนต่อ WTO ซึ่งได้แก่ ไทย แอลเบเนีย ออสเตรเลีย บังกลาเทศ โคลอมเบีย คอสตาริกา อียิปต์ สหภาพยุโรป จอร์เจีย เกาหลีใต้ สาธารณรัฐคีร์กีซ นอร์ทมาซิโดเนีย และยูเครน นอกจากนี้ สมาชิก WTO 14 ประเทศ และผู้สังเกตการณ์ 3 ประเทศ ได้ออกมาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกอาหาร แต่มีสมาชิกเพียง 3 ประเทศที่แจ้งข้อมูลต่อ WTO ซึ่งได้แก่ ไทย สาธารณรัฐคีร์กีซ และนอร์ทมาซิโดเนีย


สินค้าที่ถูกห้ามหรือจำกัดการส่งออกมากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์ป้องกันใบหน้าและดวงตา เช่น หน้ากากอนามัย และกระจังป้องกันใบหน้า เป็นต้น รองลงมา ได้แก่ ชุดป้องกันการติดเชื้อ ถุงมือ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและสารฆ่าเชื้อ ยา อาหาร เครื่องมือแพทย์ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ตรวจเชื้อ สบู่ และกระดาษชำระ ตามลำดับ


WTO อนุญาตให้สมาชิกห้ามส่งออกหรือไม่


ความตกลง WTO ห้ามสมาชิกใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดปริมาณการนำเข้าและส่งออก แต่มีข้อยกเว้นให้สมาชิกสามารถใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันหรือบรรเทาภาวะขาดแคลนอาหารหรือสินค้าอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต่อประเทศผู้ส่งออก และยังมีข้อยกเว้นให้สมาชิกสามารถใช้มาตรการที่มีความจำเป็นต่อการปกป้องชีวิตและสุขอนามัยของมนุษย์ โดยต้องบังคับใช้อย่างไม่เลือกปฏิบัติ และไม่ใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า การใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกเป็นการชั่วคราว และสอดคล้องตามเงื่อนไขดังกล่าว ไม่ขัดกับความตกลง WTO ทั้งนี้ สมาชิกจำเป็นต้องแจ้งการใช้มาตรการห้ามหรือจำกัดการส่งออกต่อ WTO โดยเร็วที่สุด แต่ไม่ควรเกิน 6 เดือนหลังจากวันที่มีผลบังคับใช้ เพื่อสร้างความโปร่งใส


ข้อดีและข้อเสียของการห้ามหรือจำกัดการส่งออก


การห้ามหรือจำกัดการส่งออกเปรียบเสมือนดาบสองคม แน่นอนว่า มาตรการดังกล่าวจะช่วยป้องกันการขาดแคลนสินค้าในประเทศ อย่างไรก็ดี หากผู้ใช้มาตรการเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ จะทำให้อุปทานในตลาดโลกลดลงและราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้นำเข้า ขณะเดียวกัน ราคาในประเทศของผู้ส่งออกจะลดลง ผู้ผลิตจึงอาจขาดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าเพื่อขายในประเทศ และอาจลักลอบส่งออกเพื่อทำกำไร ส่งผลให้สินค้าในประเทศที่ใช้มาตรการมีปริมาณลดลงในท้ายที่สุด


นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ที่การออกมาตรการของประเทศหนึ่ง อาจกระตุ้นให้ประเทศอื่นเอาอย่าง และอาจมีการใช้มาตรการต่อเนื่อง แม้สถานการณ์จะคลี่คลายแล้ว ส่งผลให้การค้าขาดความคล่องตัว อีกทั้ง บางประเทศอาจใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัตถุดิบเพื่อตอบโต้ทางการค้า ทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าจึงอาจเพิ่มขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้ ผู้ส่งออกอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในอนาคต เนื่องจากผู้นำเข้าอาจหันไปซื้อสินค้าจากประเทศอื่น หรือลงทุนผลิตเอง พร้อมกับตั้งกำแพงภาษีหรือใช้มาตรการที่มิใช่ภาษี เพื่อสร้างอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศ


เนื่องจากการห้ามหรือจำกัดการส่งออกมีทั้งคุณและโทษ องค์กรระหว่างประเทศหลายแห่ง ทั้ง WTO WHO WCO IMF FAO และธนาคารโลก รวมทั้งสมาชิก WTO หลายราย ต่างเรียกร้องให้มีการเปิดตลาดและอำนวยความสะดวกทางการค้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอาหาร เพื่อให้ทุกประเทศสามารถฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19 ได้โดยเร็ว


*“Export Prohibitions and Restrictions,” WTO, 23 เมษายน 2563.

ดร. ดวงกมล คาร์พินสกี

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

6 พฤษภาคม 2563

Image: WTO

1,202 views
bottom of page